13/10/64

อยุธยาสถานที่ท่องเที่ยว

ปราสาทนครหลวง

ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองอยุธยาอีกแห่งซึ่งผสมผสานศิลปะไทยและขอมได้อย่างน่าทึ่ง เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของกษัตริย์ในระหว่างเสด็จไปลพบุรีและไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแต่สร้างแบบก่ออิฐถือปูนในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อ พ.ศ. 2147 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ช่างถ่ายแบบมาจากปราสาทศิลา 'เมืองพระนครหลวง' หรือศรียโสธรปุระหรือนครวัดในกรุงกัมพูชา เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีกหากการก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ต่อมาใน พ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่นได้มาสร้างวัดนครหลวงขึ้นในบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งยังสร้างพระพุทธบาทสี่รอยประดิษฐานในมณฑปบนชั้นสูงสุดเป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอยบุ๋มลึกลงไปในเนื้อหินรอยใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.50 เมตร ยาว 5.50 เมตร มีจารึกที่หน้าบันว่าปฏิสังขรณ์เมื่อ ร.ศ. 122 ( พ.ศ. 2446 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) เดินชมฝีมือช่างไทยโบราณที่อุตสาหะก่อสร้างปราสาทก่อด้วยอิฐทั้งหลัง ตั้งอยู่บนเนินเขามนุษย์สร้างโดยการถมดินให้สูงที่น่าอัศจรรย์คือมีปรางค์ถึง 30 องค์ รูปทรงคล้ายปรางค์ขอมย่อมุมไม้ยี่สิบพร้อมระเบียงคดในศิลปะขอม ที่เชื่อมต่อปรางค์แต่ละองค์ซึ่งช่างทำลูกมะหวด ลักษณะเหมือนซี่ลูกกรงตัน และตำหนักนครหลวงหรือศาลพระจันทร์ลอย เป็นอาคารจัตุรมุขซึ่งบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีพระปลัด (ปลื้ม) หรือพระครูวิหาร-กิจจานุการนำแผ่นหินแกรนิตทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร หนา 6 นิ้ว ที่เรียกว่าพระจันทร์ลอยมาจากวัดเทพจันทร์ลอย อำเภอนครหลวงที่อยู่ใกล้เคียงมาประดิษฐานไว้ เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและบรรยากาศเงียบสงบ ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

 

 

ที่อยู่ : 184/1 หมู่ 1 นครหลวง, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต :  https://1th.me/hU4U5


วัดพระศรีสรรเพชญ์

วัดพระศรีสรรเพชญ์แห่งนี้ เพราะมีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างให้เป็นวัดส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานโดยไม่มีพระสงฆ์จำวัด ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญมากมาย รวมถึงพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาปีละ 2 ครั้ง เป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์อยุธยาเกือบทุกพระองค์ จึงกล่าวได้ว่าสำคัญเทียบเท่าวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัยเลยทีเดียว 
เดิมที่ตั้งของวัดเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระมหากษัตริย์ซึ่งสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอู่ทอง แต่ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางทิศเหนือต่อจากเขตวัดจรดแม่น้ำลพบุรี และยกที่ดินเดิมผืนนี้เป็นเขตพุทธาวาส และสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1991 ใจกลางวัดเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ใหญ่ศิลปะลังกา 3 องค์ มีมณฑป 3 หลังคั่นกลางสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระเจดีย์สององค์แรกทางทิศตะวันออกสร้างเมื่อ พ.ศ. 2035 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดา และองค์ที่สองคือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระบรมเชษฐา ส่วนเจดีย์องค์ที่ 3 ทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 วิหารปลายทิศตะวันออกของพระเจดีย์องค์ที่ 1 นี้เรียกว่าพระวิหารหลวงหรือพระวิหารหลวงหรือวิหารพระศรีสรรเพชญ์นี้ เคยมีพระพุทธรูปหุ้มทองคำหนัก 286 ชั่ง หรือ 171 กิโลกรัม เท่ากับ 12,880 บาท ประทับยืนสูงถึง 8 วาหรือ 16 เมตร พระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ ถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดในสมัยอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2043 แต่เมื่อครั้งเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองไปหมดสิ้น จนเหลือแต่แกนในพระซึ่งทำด้วยสำริด ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงอัญเชิญแกนในพระศรีสรรเพชญ์นี้ลงไปที่กรุงเทพมหานครและสร้างพระเจดีย์หุ้มแกนพระไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ แล้วถวายพระนามว่า เจดีย์พระศรีสรรเพชญ์ดาญาณตามองค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายใน ตัวพระวิหารหลวงที่อยุธยานั้นมีวิหารพระโลกนาถขนาบด้านทิศเหนือทิศใต้คือ วิหารพระป่าเลไลยก์ ทิศเหนือคือพระวิหาร ส่วนพระอุโบสถอยู่ทางทิศใต้ เป็นการจัดวางพระเจดีย์ล้อมกรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสลับกับวิหารแกลบ นับเป็นรูปแบบการจัดวางสิ่งก่อสร้างที่ชาญฉลาดและงดงามของช่างยุคโบราณ 
รู้ก่อนเที่ยว ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท หรือซื้อบัตรรวม ชาวไทย 40 บาท ชาวต่างชาติ 220 บาท เข้าชมวัดบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ภายในระยะเวลา 30 วัน เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.00-18.00 น. และเวลา 19.30-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน สอบถามรายละเอียดที่สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา โทร. 0 3524 2284, 0 3524 2286 เช่าเครื่องโสตทัศนาจรเพื่อรับฟังข้อมูลการบรรยายวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดไชยวัฒนารามและวัดมหาธาตุ เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้ที่จุดบริการใกล้ป้อมจำหน่ายบัตรของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ค่าบริการเครื่องละ 150 บาท สำหรับชม 3 วัดดังกล่าว (ราคานี้ไม่รวมค่าบัตรเข้าชมโบราณสถาน) โทร. 0 3524 2501 แผนที่เดินทางวัดพระศรีสรรเพชญ์ http://www.tourismthailand.org/fileadmin/upload_img/Multimedia/Ebrochure/459/วัดพระศรีสรรเพชญ์.pdf


ที่อยู่ : พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต : https://1th.me/oi1Zz


วัดสุทธาวาส วิปัสสนา

แม้ไม่เก่าแก่อายุหลายร้อยปีเทียบเท่าศาสนาสถานอื่นในจังหวัด หากเดิมวัดตะพังโคลนแห่งนี้ ก้าวขึ้นมามีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างมากมาย จนได้ชื่อว่าเป็นพุทธมณฑลแห่งอยุธยา ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2465 เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2492 โดยพระสมุห์สมรักษ์ อนาลโย หรือ หลวงพ่อรักษ์ เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาสจัดให้มีวิปัสสนาเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศลทุกวันอาทิตย์เวลา16.09 น. และสอนกรรมฐานแก่ผู้มีจิตศรัทธามุ่งมั่นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้วัดแห่งนี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแห่งที่13 ตามมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม โดยจัดให้มีการปฏิบัติธรรมแนวสติปัฏฐาน 4 เป็นประจำทุกเดือน มีผู้สนใจมาเข้าร่วมสายธรรมเป็นอันมาก จนวัดเติบโตก้าวหน้า ขยายขอบเขตวัดจากเดิม 44 ไร่เป็น 97 ไร่ และริเริ่มโครงการพัฒนาวัดสุทธาวาสฯ ให้กลายเป็นพุทธมณฑลของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิ่งก่อสร้างที่มีผู้สนใจไปเยี่ยมชมมากมายไม่แพ้ไปปฏิบัติธรรมคือ พระบรมมหาธาตุเจดีย์ขนาดกว้าง 80 เมตร ยาว 80 เมตร สูง130 เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 9 องค์ที่ได้รับประทานมาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเมื่อ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 และอาคารสำหรับปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา โรงเรียนปริยัติสำหรับพระภิกษุสงฆ์ด้วย เปิดให้เข้านมัสการได้ทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น. ทางวัดจัดให้มีการเจริญพระพุทธมนต์ทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.09 น. และสอนปฏิบัติกรรมฐานทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ทุกสิ้นเดือน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.watsuttawasvi.com โทร. 0 3537 9977, 0 3537 9944

 

 

ที่อยู่ : 1 หมู่ 4 บ้านตะพังโคลน ลาดบัวหลวง, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต : https://1th.me/cMZPy


วัดพุทไธศวรรย์

วัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศตะวันตก ที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ตรงข้ามเกาะเมือง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โต มีชื่อเสียง และสำคัญที่สุดในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา ปรากฏตามตำนานว่า พระองค์ทรงสร้างขึ้นในบริเวณที่ซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่ตรงนี้มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า "ตำบลเวียงเล็ก" หรือในบางครั้งเพี้ยนไปเป็น "เวียงเหล็ก" เมื่อปี พ.ศ. 1896 ในบริเวณตำหนักเวียงเหล็ก ซึ่งเป็นที่ประทับแห่งแรกของพระองค์เมื่อครั้งอพยพผู้คนมาสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในปี พ.ศ. 1893 ต่อมาได้เกิดโรคระบาด พระองค์จึงทรงย้ายผู้คนมาสร้างพระราชวังใหม่ขึ้นใกล้หนองโสน (บึงพระราม) ในบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในปัจจุบัน ส่วนเวียงเหล็กนั้นได้สถาปนาเป็นวัดพุทไธศวรรย์ อันเป็นอนุสรณ์สถานแห่งแรกของการสร้างราชธานี ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึง พ.ศ. 1896 จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์ ณ ตำบลซึ่งพระองค์เสด็จมาตั้งมั่นอยู่แต่เดิม และพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาได้ยึดธรรมเนียมดังกล่าว โปรดให้สร้างถาวรวัตถุ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง อนึ่ง เมื่อเสียกรุงฯ ในปี พ.ศ. 2310 วัดพุทไธศวรรย์ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายเหมือนวัดอื่น ๆ จึงยังคงสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ปัจจุบันนี้จึงยังคงมีโบราณสถานให้ชมอีกมากมาย สิ่งที่น่าสนใจดังกล่าว ได้แก่ ปรางค์พระประธาน ซึ่งตั้งอยู่กลางอาณาเขตพุทธาวาสบนฐานไพที เป็นองค์ใหญ่ศิลปะแบบขอม มณฑปสองหลังซึ่งภายในมีพระประธาน พระอุโบสถทางด้านทิศตะวันตกของปรางค์ หมู่พระเจดีย์สิบสององค์ วิหารพระนอน ตลอดจนพระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ประจำสมัยกรุงศรีอยุธยา ตำหนักนี้น่าสนใจเนื่องจากภายในผนังของตำหนักมีภาพสีเกี่ยวกับหมู่เทวดา นักพรต นมัสการพระพุทธบาท ตำหนักท้าวจตุคามรามเทพ ตลอดจนเรือสำเภา ครั้นพระพุทธโฆษาจารณ์เดินทางไปยังกรุงลังกา อนึ่ง พระตำหนักนี้ รวมถึงจิตรกรมฝาผนังเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้ามทรุดโทรม ภาพวาดไม่ชัดเจนเท่าใด
 
 

ที่อยู่ : ถนนอู่ทอง พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต :  https://1th.me/W7mwW

 

วัดช้างใหญ่

เดิมทีวัดช้างใหญ่มีชื่อเสียงว่าเกี่ยวข้องกับชาวมอญผู้เลี้ยงช้างศึกถวายพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาเอกราชของชาติ แต่เพิ่งจะมีการค้นพบใหม่ คือพระพุทธรูปอันเป็นศิลปะล้ำค่าหายาก อายุกว่า 600 ปี ที่วัดแห่งนี้เพิ่มขึ้นมาไม่นานมานี้ ด้วยชาวมอญในย่านนี้รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ไทยด้วยการฝึกช้าง อันเป็นความชำนาญพิเศษมาช้านาน กระทั่งหัวหน้าชาวมอญผู้หนึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นจัตุลังคบาทควบคุมช้างศึก และได้เลื่อนยศเป็นทหารเอกแม่ทัพหน้าชนะศึกหลายครั้ง จนได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชมนู มีตำแหน่งสูงสุดเป็นถึงเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีสมุหกลาโหม โดยมีช้างที่สำคัญคือ เจ้าพระยาไชยยานุภาพ ระวางสูงสุดที่เจ้าพระยาปราบหงสาวดี เป็นช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเจ้าพระยาปราบไตรจักร เป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ ดังนั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แรงกายแรงใจของชาวมอญและความสามารถของพระยาช้าง จึงได้สร้างวัดขึ้นและให้ชื่อว่า วัดช้างใหญ่ โดยจัดสร้างอนุสาวรีย์ช้างศึก เจ้าพระยาปราบหงสาวดี ซึ่งเป็นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระบรมรูปของพระองค์ให้ประชาชนได้สักการะ และยังได้ชมวิหารหลวงพ่อโต สะท้อนสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งวาดตามขนบแบบอยุธยา คือด้านหลังพระประธานวาดภาพพระพุทธเจ้าผจญมาร ส่วนด้านที่มีหน้าต่างปรากฏภาพเทพชุมนุม ส่วนสถานที่สักการะยอดนิยมแห่งใหม่คือพระอุโบสถเก่า ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2554 บรรดาพระและสามเณรกำลังทำความสะอาดองค์พระภายในพระอุโบสถหลังเก่า เพื่อเตรียมจัดงานมหาสงกรานต์ เมื่อเช็ดทำความสะอาดพระพุทธรูปพระบริวารที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระประธาน พบว่าพระพุทธรูปปางมารวิชัยเนื้อปูนปั้น หน้าตัก 20 และ 29 นิ้ว ฝั่งซ้ายขวารวม 8 องค์ ประดิษฐานอยู่บนแท่นสูงราว 50 เซนติเมตร ทุกองค์ยิ้มมากน้อยต่างกันไป แต่ปากทาสีแดงสดทั้ง 8 องค์ สันนิษฐานว่าญาติโยมที่มาทำบุญปิดทองไหว้พระหลวงพ่อโตมาช้านาน คงปิดทองทับปากพระบริวารทั้ง 8 องค์ จึงไม่มีผู้ใดเคยเห็นปากพระพุทธรูปสีแดงนี้มาก่อน อันเป็นศิลปะของชาวมอญหรือพม่า ซึ่งจะนิยมทาปากสีแดงเป็นเอกลักษณ์ คาดว่าพระพุทธรูปทั้ง 8 องค์นี้ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ 600 กว่าปีมาแล้ว 
เปิดให้เข้าชม : เวลา 08.00-16.30 น. สอบถามข้อมูล : โทรศัพท์ 09 4664 1489, 08 3747 5811

 

ที่อยู่ : ตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เครดิต : https://1th.me/wTiF6

 


 



 

 

 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only