13/10/64

5 ที่ท่องเที่ยวอยุธยา

พระราชวังบางปะอิน

พระราชวังบางปะอิน (Bang Pa-in Palace) เป็นพระราชวังเก่าแก่ที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าปราสาททอง สมัยอยุธยา แต่ถูกปล่อยให้รกร้างไปเป็นเวลานาน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบูรณะพระราชวังบางปะอินใหม่ ภายในเขตพระราชวังบางปะอินนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ เขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งเป็นที่ประทับ และเขตพระราชฐานชั้นนอก ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้ 
สถานที่น่าสนใจของพระราชวังบางปะอิน (Bang Pa-in travel) หอเหมมณเฑียรเทวราช ปรางค์ศิลาจำลองแบบจากปรางค์ขอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2423 เพื่อทรงอุทิศถวายแด่พระเจ้าปราสาททอง พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมหาปราสาทโถงทรงจตุรมุขกลางน้ำ ถอดแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ และพระราชทานนามตามพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระที่นั่งทรงวิหารกรีกแบบคอรินเธียรออร์เดอร์ ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนางในงานพระราชพิธี เคยเป็นที่รับรองแขกเมืองหลายครั้ง ตลอดจนเก็บอาวุธโบราณ ตุ๊กตาหินสลัก และเครื่องราชบรรณการต่าง ๆ สภาคารราชประยูร อาคารสองชั้นริมน้ำตรงข้ามพระที่นั่งวโรภาษพิมาน สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายหน้าและข้าราชบริพาร 
พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างเขตพระราชฐานชั้นนอกและชั้นใน คือสะพานจากพระที่นั่งวโรภาษพิมานและประตูทางเข้าพระราชฐาน นามว่า ประตูเทวราชครรไล ซึ่งออกแบบให้มีฉากคล้ายบานเกล็ดกั้นกลาง เพื่อแยกทางเดินของฝ่ายหน้าและฝ่ายใน บริเวณเขตพระราชฐานชั้นใน มีอาคารที่น่าชมหลายแห่ง ได้แก่
 พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระที่นั่งเรือนไม้สไตล์ชาเล่ต์สวิส รอบด้านตกแต่งเครื่องราชบรรณาการจากหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นของหายากประจำเมืองทั้งสิ้น แต่ใน พ.ศ. 2481 เกิดอัคคีภัยขึ้นระหว่างการซ่อมแซม เป็นเหตุให้พระที่นั่งทั้งองค์สูญสิ้นไปกับเปลวเพลิง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามคำกราบบังคมทูลของสำนักพระราชวัง ให้สร้างพระที่นั่งคอนกรีตขึ้นแทนองค์เก่า 
 พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ที่ประทับฤดูหนาวซึ่งสร้างตามสถาปัตยกรรมจีน จึงมีชื่อเรียกง่าย ๆ ว่าเก๋งจีน และมีชื่อเป็นภาษาจีนด้วยว่า เทียน (เวหา) เม่ง (จำรูญ) เต้ย (พระที่นั่ง) โดยพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก) สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีงานสถาปัตย์และงานประณีตศิลป์งดงามยิ่ง อาทิ ลายแกะสลัก โถงหน้าปูพื้นกระเบื้องกังไสซึ่งทุกแผ่นประดับภาพเขียนงานฝีมือ พร้อมเครื่องตกแต่งจากจีน เปิดให้เข้าชั้นล่างได้บางห้อง 
 เก๋งบุปผาประพาส ตำหนักเก๋งเล็กกลางสวนริมสระ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
 หอวิฑูรทัศนา ถ้าจะชมทิวทัศน์กว้างรอบด้าน ต้องขึ้นบันไดมาที่พระที่นั่ง 3 ชั้น มีลักษณะเป็นหอสูงยอดมนที่ตั้งอยู่บนเกาะน้อย ระหว่างพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรและพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นหอส่องกล้องชมทิวทัศน์ 
 อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์หรืออนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์แห่งความรัก และบรรจุพระสริรังคารของพระมเหสีผู้เป็นที่รักยิ่งของพระองค์ 
 อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ และเจ้าฟ้าสามพระองค์ 
ข้อมูลการเดินทาง 
 โดยรถยนต์ ออกมาจากตัวเมืองไปทางถนนหมายเลข 3477 มุ่งหน้าสู่ ตำบลบ้านเลน ขับไปตามทางประมาณ 15 กม. จะถึงสถานีรถไฟบางปะอิน จุดหมายอยู่ทางขวามือ มาจากกรุงเทพฯ ให้มาตามถนนพหลโยธิน เมื่อถึงประตูน้ำพระอินทร์ ให้ข้ามสะพานวงแหวนรอบนอก หลังจากนั้น ให้เลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ 35 สู่ทางหลวงหมายเลข 308 อีกประมาณ 7 กิโลเมตรก็จะถึงพระราชวังบางปะอิน (Bang Pa-In thailand) หรืออีกเส้นทางต้องผ่านเข้ามายังตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา เมื่อถึงเจดีย์วัดสามปลื้มให้เลี้ยวซ้ายซึ่งจะผ่านวัดใหญ่ชัยมงคลและวัดพนัญเชิง เมื่อถึงสถานีรถไฟบางปะอินให้เลี้ยวขวา แล้วขับไปตามทางจนถึงพระราชวังบางปะอิน 
 โดยรถประจำทาง การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ถ้ามาจากกรุงเทพฯ สถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) นั่งรถสายกรุงเทพฯ -บางปะอิน มาลงที่บขส.บางปะอิน (สุดสาย) จากนั้นนั่งรถสามล้อเครื่องไปลงที่พระราชวังบางปะอิน ปัจจุบัน บริษัทขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว โดยไปที่ www.busticket.in.th หรือ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ www.thairoute.com โดยรถไฟ จากสถานีหัวลำโพง มีรถไฟผ่านสถานีบางปะอินวันละหลายขบวน จากสถานีบางปะอินมีรถสองแถวและมอเตอร์ไซค์รับจ้างบริการส่งถึงพระราชวังบางปะอิน
 ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดให้จองตั๋วผ่านระบบออนไลน์ e-TSRT แล้ว โดยไปที่ https://www.thairailwayticket.com/eTSRT/ โดยเรือ ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดนำเที่ยวนั่งเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาชมวิว พระราชวังบางปะอิน และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ จัดโดยบริษัททัวร์ ซึ่งมีอยู่หลายบริษัท

 

ที่อยู่ : บางปะอิน, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต : https://1th.me/g528o

 

 

วัดกล้วย

วัดแห่งพระธาตุและแหล่งกราบไหว้ครูบาที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราว ๆ พ.ศ. 2500 ด้วยสภาพที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก นอกเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา จึงกลายเป็นที่จอดเรือสินค้าที่ล่องมาจากภาคเหนือ จนเป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำที่สำคัญ อีกทั้งเคยเป็นสมรภูมิรบและค่ายทหารของพระเจ้าตากสินมหาราชด้วย แม้เรื่องราวการสู้รบแต่หนหลัง กลายเป็นตำนานบทหนึ่งของวัดอายุหลายร้อยปีแห่งนี้ ทว่าสิ่งที่ดึงดูดผู้คนให้เข้ามายังอารามอันร่มเย็นในปัจจุบัน คือกรุวัตถุมงคลและพระบรมสารีริกธาตุ โดยภายในพระอุโบสถสร้างด้วยหินในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานพระประธานทองเหลืองภายในองค์พระบรรจุวัตถุมงคล และยังจัดแสดงพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุครูบาอาจารย์หลายองค์ เช่น พระธาตุพระอรหันตสมัยพุทธกาลเกศาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อัฐิหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นต้น ให้ประชาชนเข้ามาสักการะและสามารถชมได้อย่างใกล้ชิด แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นที่สุดของวัดกล้วยคือ พระธาตุของพระครูอินทวุฒิกรหรือหลวงปู่ต่วน อินทปัญโญ อดีตเจ้าอาวาส ที่มีลักษณะและความแตกต่างของพระธาตุที่หลากหลายทั้งรูปทรง รูปร่าง สีสันวรรณะ ทั้ง ๆ ที่เป็นพระธาตุที่บังเกิดมาจากสรีรกายของหลวงปู่ต่วนเพียงองค์เดียว และก่อนกลับ อย่าพลาดกราบสักการะรูปหล่อหลวงปู่ต่วนและหลวงปู่เทพโลกอุดรที่ประดิษฐาน ณ ศาลาเปรียญ รอบ ๆ วัดยังร่มรื่น มีลมจากแม่น้ำป่าสักพัดโชยให้เย็นตลอดวัน ซึ่งจะทำธรรมทานด้วยการให้อาหารปลาก็ได้ และอีกสิ่งที่ห้ามพลาดคือชิมก๋วยเตี๋ยวเรือรสเด็ดให้อิ่มท้องกันก่อนกลับ 
เปิดให้เยี่ยมชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. โทร. 0 3524 2768, 08 9980 2421

 

ที่อยู่ : หมู่ 11 พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต : https://1th.me/bedtB

 

วัดท่าการ้อง

 วัดไทยหนึ่งเดียว ท่ามกลางมัสยิดถึง 5 หลัง ซึ่งเกิดจากการรวมวัด 2 แห่งเข้าด้วยกัน คือวัดท่าและวัดการ้อง คาดว่าจะสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2076 ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชา และยังเป็นสถานที่สำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หลายครั้ง เช่น เป็นที่ประทับพักผ่อนของคณะผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ทั้งไปปรากฎในพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ยกทัพมาตั้งที่วัดท่าการ้องเมื่อ พ.ศ. 2106 ตรงกับรัชสมัยพระมหาจักรพรรดิในสงครามช้างเผือก และเนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่ายกทัพมาใน พ.ศ. 2310 ในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชธานีอยุธยา ซึ่งหลังจากนั้นมา วัดท่าการ้องก็แปรสภาพเป็นวัดร้าง แต่สังเกตจากรูปแบบการก่อสร้างเม็ดมะยมรอบกำแพงพระอุโบสถจึงสันนิฐานได้ว่าวัดท่าการ้องจะได้รับการบูรณะในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศิลป์สมัยกรุงศรีอยุธยาผสมผสานกับศิลปะแบบกรุงรัตนโกสินทร์ยังหลงเหลือในสภาพสมบูรณ์ เช่น พระอุโบสถ ที่มีหน้าบันไม้แต่งลายจำหลัก ซุ้มประตูและหน้าต่างแต่งลายปูนปั้น แต่ด้านหน้าประดับงานกระจกสีสไตล์โบสถ์ฝรั่งดูแปลกตา พุทธศาสนิกชนนิยมมากราบไหว้หลวงพ่อยิ้ม หรือพระพุทธรัตนมงคล พระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้นที่พระพักตร์เปี่ยมเมตตาและงดงามตามศิลปะอันโดดเด่นในยุคนั้นส่วนหอระฆังสร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก่ออิฐถือปูนเป็นรูปแปดเหลี่ยม และศาลาการเปรียญหลังเก่าด้านหลังพระอุโบสถ ซึ่งสร้างเป็นเรือนไทยไม้สักทรงคุณค่า 
สิ่งแต่งเติมวัดในปัจจุบันคือพรรณไม้ต่าง ๆ ตลอดจนรูปปั้นดินเผาพระยิ้มสวมแว่นสวยตา บ้างก็สวมแว่นตาดำ ดึงดูดคนยุคใหม่ให้เข้าวัดได้ดีนัก ที่นี่ยังเคยได้รับรางวัลสุดยอดส้วมแห่งปี 2549 ประเภทวัดและศาสนสถานจากการตกแต่งสวยงามส่วนบริเวณหลังวัดก็จัดเป็นตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง เปิดตลาดริมแม่น้ำเจ้าพระยาขายอาหารและเครื่องดื่ม มีตั้งแต่ส้มตำจนถึงชาเย็นใส่กระบอกไม้ไผ่ อิ่มบุญและอิ่มท้องในคราวเดียว 
เปิดให้เข้านมัสการและเที่ยวตลาดน้ำเวลา 08.00-18.00 น. โทร. 0 3580 1399, 0 8599 94249, www.วัดท่าการ้อง.com

 

ที่อยู่ : หมู่ 6 บ้านป้อม พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต : https://1th.me/VwLMi

 

วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

เดิมชื่อวัดเสื่อ สร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาพร้อมพระราชวังจันทรเกษม ที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกในยามเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงศรีอยุธยา ตัววัดสร้างขึ้นด้านหลังเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวัง วัดเสื่อได้เจริญรุ่งเรืองมาพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษมและได้กลายเป็นวัดร้างไปคู่กันเมื่อกรุงศรีแตกใน พ.ศ. 2310 จวบจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ 300 ชั่งเศษและโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) เป็นประธานในการบูรณะวัดเสื่อจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2406 โดยพระราชทานนามใหม่ว่าวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร หรือเรียกกันทั่วไปว่าวัดเสนาสน์แล้วถวายเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกฝ่ายธรรมยุตนิกาย สถาปัตยกรรมงดงามภายในวัดที่น่าชม ได้แก่ พระอุโบสถศิลปะสมัยอยุธยา หน้าบันไม้แกะสลักปิดทอง มีพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปพระมหามงกุฏ บ่งบอกว่าพระองค์เป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุมและภาพพระราชพิธีเดือนสิบสองที่วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระประธานคือ พระสัมพุทธมุนี พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยลงรักปิดทองศิลปะสมัยอยุธยา ประดับด้วยซุ้มเรือนแก้ว จารึกอักษรขอม ถัดมาคือพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ศิลปะสมัยอยุธยาที่นำศิลามาเรียงต่อกันแล้วแกะสลักยาว 14.2 เมตร ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธไสยาสน์องค์นี้มาจากวัดมหาธาตุ และยังมีพระวิหารพระอินทร์แปลง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง หล่อด้วยโลหะสำริดปางมารวิชัย เดินชมเสนาสนะและงานพุทธศิลป์ต่าง ๆ ได้ทั่วบริเวณวัด เช่น ซุ้มศรีมหาโพธิ์ ธรรมาสน์หินปิดทอง 2 แท่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังตำนานพระอินทร์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิถีชีวิตผู้คนวัดในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงภาพลายรดน้ำรูปสัตว์ 10 อย่างที่พระภิกษุไม่ควรบริโภค โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะเริ่มดำเนินงานบูรณะครั้งใหม่ใน พ.ศ. 2560 เพื่อให้อารามหลวงแห่งนี้ยังคงความงดงามไปได้อีกยาวนาน 
เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.00-16.30 น. โทร. 0 3525 1518, http://watsenasanaram.blogspot.com

 

 

ที่อยู่ : 101 หมู่ 10 ถนนอู่ทอง พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต : https://1th.me/oq4mn

 

 

วัดลาดระโหง (ศูนย์วิปัสสนาภาษาอังกฤษ)

อยุธยาคือดินแดนแห่งพระธรรม มีทั้งวัดและสถานปฏิบัติธรรมมากมาย แต่ถ้ามีผู้ศรัทธาเป็นชาวต่างประเทศแล้วก็ ขอแนะนำให้มาศึกษาพระธรรมที่วัดแห่งนี้ ซึ่งมีศูนย์วิปัสสนาภาษาอังกฤษ ถ่ายทอดโดยพระอาจารย์มากประสบการณ์ที่มีลูกศิษย์ธรรมเป็นชาวต่างชาติ ทั้งเอเชีย ยุโรปและอเมริกามาหลายปี มีหลักสูตรปฏิธรรมทั้งระยะสั้นและระยะยาว ท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบและได้ศึกษาประวัติศาสตร์อดีตราชธานีแห่งสยามไปในตัว หากต้องการปฏิบัติธรรม ติดต่อพระครูเกษมวุฒิกร เจ้าอาวาสวัดลาดระโหง เวลาเปิดทำการ 08.00-16.30 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 3525 5000, 08 1852 9005 หากมีเพื่อนชาวต่างชาติที่รักการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และสนใจการปฏิบัติธรรมวิถีพุทธ วัดลาดระโหง เป็นสถานที่ที่ควรค่าแก่การแนะนำ การเดินทางไปวัดลาดระโหง หากเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหมายเลข 1 ตรงมาตลอด แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนทางหลวงหมายเลข 9 ตรงมา เจอสี่แยกตัดถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 347 ให้เลี้ยวขวาเข้าเส้นถนนทางหลวงหมายเลข 347 ตรงมาตลอด ผ่านแยกตัดถนนเส้น 3442 ให้ตรงมา ข้ามสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ตรงมาอีกจะผ่านศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิดอยู่ด้านขวามือ ให้ตรงมาอีกจะเจอ "วัดลาดระโหง" อยู่ด้านซ้ายมือ สามารถดูแผนที่เพิ่มเติมได้ที่ http://www.tourismthailand.org/fileadmin/upload_img/Multimedia/Ebrochure/468/วัดลาดระโหง.pdf
 
 
 
ที่อยู่ : 4 หมู่ 5 บางปะอิน, พระนครศรีอยุธยา
เครดิต :  https://1th.me/GSMeN

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only