13/10/64

เที่ยวอยุธยาต้องไปที่ไหน

 

หมู่บ้านญี่ปุ่น

ที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยานั้นถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าโลกยุคโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งก็ว่าได้ เพราะเป็นทางเชื่อมผ่านระหว่างโลกตะวันออก (จีน) และตะวันตก (กรีก โรมัน) จัดว่าเป็นเส้นทางสายไหมทางบก จึงมีชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าและต่อมาได้ตั้งรกรากอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาสร้างหมู่บ้านญี่ปุ่นอยู่กันมากถึง 1,500 คน บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออกหรือทางตอนใต้ของเกาะเมือง ด้านเหนือของหมู่บ้านญี่ปุ่นจะมีคลองเล็ก ๆ คั่นเป็นชุมชนอังกฤษและชุมชนฮอลันดา ชาวญี่ปุ่นที่มาอยู่กรุงศรีอยุธยาแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ พ่อค้า โรนินหรือนักรบญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็นทหารอาสาญี่ปุ่นในอยุธยา และชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเลือกจะออกจากประเทศเพื่อแสวงหาดินแดนที่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตอกย้ำหลักฐานทางประวัติศาสตร์การตั้งรกรากของชาวญี่ปุ่น เมื่อมีการขุดค้นบริเวณวัดสิงห์ปากน้ำ ใน พ.ศ. 2476 พบเศียรพระพุทธรูป 44 องค์ พระพุทธรูปองค์เล็ก 21 องค์ โซ่เหล็ก มีด โม่หิน กระทะ เหรียญอันนัม ชิ้นส่วนดาบ เสื้อเกราะและพระโพธิสัตว์ ซึ่งฮิกาชิอนนะ คันจุ นักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่นบันทึกไว้ว่า พระโพธิสัตว์ทรงแบบเตาซาซุมะและหินกลมที่ขุดพบนี้นำมาจากญี่ปุ่นส่วนการสำรวจบริเวณพื้นที่ตั้งหมู่บ้านญี่ปุ่นก็พบมีเสาไม้ซึ่งมีอักษรภาษาญี่ปุ่นจารึกอยู่ มีรูปสักการะเจ้าแม่กวนอิมของชาวญี่ปุ่น และกระสุนปืนใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ( พ.ศ. 2148-2153) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกหนังสือให้กับชาวญี่ปุ่นที่จะทำสำเภาการค้าเรียกว่าใบเบิกร่องประทับตราแดง เป็นตัวกระตุ้นให้มีพ่อค้าชาวญี่ปุ่นออกเรือและเดินทางเข้าสู่อยุธยามากขึ้น สินค้าที่ชาวญี่ปุ่นต้องการ ได้แก่ ไม้ฝาง หนังกวาง และของป่า อยุธยาเองก็นำเข้าสินค้าจำพวกทองแดง ดาบญี่ปุ่น ไหม และเครื่องเคลือบต่าง ๆ โดยชาวญี่ปุ่นในยุคนั้นที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ได้แก่ นางามาสะ ยามาดะ เป็นหัวหน้าชาวญี่ปุ่นและเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเข้ารับราชการได้รับความดีความชอบกระทั่งได้เป็นถึงออกญาเสนาภิมุข และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยจนถึงบั้นปลายชีวิต อีกรายคือมารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา ลูกครึ่งญี่ปุ่น-โปรตุเกส ซึ่งสมรสกับคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชาเยนทร์ เสนาบดีกรมท่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เธอเข้ารับราชการจนได้ตำแหน่งท้าวทองกีบม้า หัวหน้าพนักงานวิเสทกลาง (ครัว) ดูแลของหวานแบบเทศและนำของหวานโปรตุเกสมาเผยแพร่ในเมืองไทย เป็นต้นตำรับขนมตระกูลทอง อย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองนั่นเอง นอกจากนิทรรศการวิถีชีวิต บุคคลสำคัญและการค้าไทย-ญี่ปุ่นในยุคนั้นแล้ว ยังมีสวนญี่ปุ่นริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่น่าไปเที่ยวชม ออกแบบโดยนักออกแบบสวนชาวญี่ปุ่นชื่อ ฮิโรฮิสะ นาคาจิมา ที่มีผลงานในระดับนานาชาติ มีศาลาญี่ปุ่นให้นั่งผ่อนคลายชมวิวริมน้ำ ได้บรรยากาศญี่ปุ่นโดยเดินทางใกล้ ๆ เพียงแค่อยุธยาเท่านั้น เปิดเวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย ราคา 20 บาท ชาวต่างชาติ ราคา 50 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 3524 4340 หรือสมาคมไทย-ญี่ปุ่น โทร. 0 3524 5336, 0 2251 5852, www.thai-japanasso.or.th 
 
 
 
ที่อยู่  : ถนนเจดีย์-วัดดุสิตาราม พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา
เครดิต :  https://1th.me/20SNI



หมู่บ้านหัตถกรรมมีดอรัญญิก

เเหล่งผลิตมีดเลื่องชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จากฝีมือชาวเวียงจันทน์ ประเทศลาวแห่งบ้านต้นโพธิ์และบ้านไผ่หนอง ซึ่งเข้ามาอยู่เมืองไทยมาเนิ่นนานแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าถูกกวาดต้อนมาในสมัยเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกคราวยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์หรือจะอพยพมาเอง แต่มีหลักฐานว่านายเทาเป็นผู้นำ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนนราบริรักษ์ชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้มีฝีมือทางช่าง ได้แก่ ช่างทองกับช่างเหล็ก แต่เมื่อ พ.ศ. 2365 ได้เลิกอาชีพช่างทอง คงเหลือแต่การตีมีดอย่างเดียว ประกอบกับภูมิประเทศบริเวณนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีดงไม้ไผ่หนาเเน่น มีหนองน้ำและแม่น้ำป่าสักไหลผ่านจึงสะดวกต่อการเดินทางและนำไม้ไผ่มาใช้เป็นองค์ประกอบในการทำมีด คือ นำมาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาเหล็ก เพราะถ่านไม้ไผ่ให้ความร้อนสูงกว่าไม้ชนิดอื่น และนำลำต้นไปทำด้ามพะเนิน ด้ามค้อน เเละด้ามมีด สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อราว พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เสด็จมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มาขอให้ชาวเวียงจันทน์กลับประเทศเเต่ชาวบ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์ขออยู่ใต้ร่มโพธิสมภาร สร้างชื่อเสียงจากวิชาตีมีดในเมืองไทยต่อไป สาเหตุที่ได้ชื่อว่ามีดอรัญญิก เป็นเพราะสมัยโบราณมีตลาดที่บ้านอรัญญิก ตำบลปากท่า อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากหมู่บ้านต้นโพธิ์เเละหมู่บ้านไผ่หนองประมาณ 3 กิโลเมตร ชาวบ้านนำเอามีดไปขายที่ตลาดแห่งนี้ คนที่ซื้อไปก็บอกต่อ ๆ กันว่ามีดอรัญญิกมีคุณภาพดี เพราะทั้งแข็งแรงทนทาน บางชนิดใช้ได้นานตลอดชั่วอายุคน และยังสวยงามประณีต มีดอรัญญิกมีด้วยกัน 4 ตระกูล ได้แก่ มีดตระกูลเกษตรกรรม มีดตระกูลคหกรรม มีดตระกูลอาวุธ และมีดตระกูลอื่น ๆ ชุมชนทั้งสองนี้มีงานประเพณีสำคัญคือ การไหว้ครูหรือไหว้ครูบูชาเตากำหนดวันข้างขึ้นเดือนหกที่ตรงกับวันพฤหัสบดี ทุกบ้านจะซ่อมเเซมทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ และนำไปวางไว้ในที่อันสมควร เตาเผาเหล็กจะต้องปั้นกันใหม่และนำเครื่องบูชาเเละอาหารคาวหวานถวายแด่พระภูมิ เเม่ธรณีส่วนเครื่องสังเวยต่าง ๆ จะนำมาวางไว้ที่เครื่องมือเเล้วทำพิธีสวดโองการเชิญเทพเจ้า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาอยู่คู่กับการทำมีดอรัญญิก นักท่องเที่ยวสามารถเข้าพักโฮมสเตย์ ชมการทำมีดและลงมือตีมีดด้วยตนเอง โดยไม่พลาดซื้อมีดอรัญญิก หนึ่งในของดีขึ้นชื่อเมืองอยุธยากลับไปพิสูจน์คุณภาพกันด้วย



 
ที่อยู่  : 162/3 หมู่ 7 นครหลวง, พระนครศรีอยุธยา
เครดิต : https://1th.me/wDaLY



ตลาดเศียรช้าง

ตลาดเศียรช้างตั้งอยู่ที่ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา ก่อตั้งขึ้นจากแนวคิดที่ได้นำวิถีไทยสมัยกรุงศรีอยุธยามาผสมผสานกับความร่วมสมัยในเชิงศิลปะแห่งยุค และไอเดียใหม่ ๆ เพื่อผนวกรวมความเป็นไทยในรูปแบบเฉพาะตัวจนเป็นที่มาของ ตลาดเศียรช้าง ไทย ฮิป มาร์เก็ต สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็นในความสร้างสรรค์ศิลปะแบบไทยประยุกต์ รวมถึงร้านรวงที่เข้ามาสร้างสีสันในความฮิปด้วยคอนเซปที่แตกต่างกัน เช่น ร้านหงิ่น ของหากินยาก พระกระโดดกำแพงสูตร ภัตราคารจีน และ ข้าวห่อใบบัวแบบไทยโบราณ ร้านมุมอร่อย ที่นำเอาส่วนประกอบไทย ๆ ที่รู้จักกันดีอย่างปลาทูมาทำเป็นแฮมเบอร์เกอร์ปลาทู ร้านกะบอกต่อ ร้านนี้เค้ามีดีอะไรที่ต้องบอกต่อก็ตรงไอเดียในการผสมผสานกระบอกไม้ไผ่เข้ากับอาหาร มีชื่อว่า หมูดอกอ้อ กับไก่กระบอก ร้านจ๊ำบ๊ะ นมสด หวานเย็นไทย แต่แตกต่างตรงที่หน้าตาแปลกใหม่ ด้วยการทำหน้าตาเป็นรูปหัวใจและให้ชื่อน่ารัก ๆ อย่าง ความรักดอกเหม่ย นอกจากหวานเย็นแล้วยังมีนมสดแท้ 100% ที่ใส่รสชา กาแฟ สตอรเบอรี่ลงไปเพิ่มรสชาด ร้านช็อคโก้ คาเฟ่ ช็อคโกแลตนอกราคาไทย ๆ มีเครื่องทำน้ำพุช็อกโกแลตให้ได้ลองทำกับมือ และยังมีน้ำช็อกโกแลตสูตรเด็ดเย็นชื่นใจพร้อมให้ทาน ร้านลุงพงษ์ ลงพุง จำหน่ายกุนเชียงที่ไม่ได้ทำจากหมู แต่ทำจากเนื้อปลาสลิดล้วน ๆ น่าลิ้มลอง มุมเซลฟีก็มีให้เลือกเพียบ เช่น ตีฆ้องพร้อมเซลฟีกับช้างขาวที่มีลายเซ็นคนดังพร้อยไปทั้งตัว ฉากค่ายศึกโบราณ อุโมงค์เศียรช้าง พระเจดีย์ช้างล้อมที่มีช้างจริง ๆ มาเดินต้อนรับนักท่องเที่ยว หรือจะเซลฟีพ่วงขพรความรักกับ พลายเลนไทน์ ช้างยักษ์ที่ทำจากรากไม้สักที่ใช้เวลาเก็บรวบรวมรากไม้นานถึง 1 ปี จนสำเร็จในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 อย่าลืมระบายสีปลาตะเพียนอธิษฐานตามความเชื่อสมัยอยุธยาว่าบ้านร้านใดมีปลาตะเพียนสานห้อยไว้ด้านหน้าจะร่ำรวยและรุ่งเรือง ส่วนลานการแสดงหลังองค์พระพิฆเนศ ที่มาของชื่อตลาดเศียรช้าง มีโชว์เก๋ ๆ หมุนเวียนกันไม่ซ้ำ เช่น หนังกลางแปลงพากย์สด แหล่ปะทะแร็พและมวยคาดเชือก ส่วนทุกศุกร์-เสาร์ร้านรวงฮิปสเตอร์จะนำสินค้าทำมือมาตั้งขายที่ถนนคนเดินให้เดินช็อปเพลินด้วย ตลาดแนวใหม่ถูกใจคนวัยมัน เปิดทุกวัน เวลา 10.00-20.00 น.สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08 2453 1414, 08 4334 6556



ที่อยู่  : พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา
เครดิต :  https://1th.me/3zsno




ตลาดน้ำทุ่งบัวชม

เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในบรรยากาศตลาดน้ำแบบไทย ๆ ที่ผสมผสานแนวคิดร่วมสมัย มีการประดับตกแต่งรูปปั้นเก๋ ๆ เอาไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของตลาด ที่นี่นอกจากจะเป็นแหล่งรวมร้านค้า ร้านขายของฝาก ของที่ระลึกแล้ว ยังมีเมนูอาหารต่าง ๆ ให้เลือกซื้อเลือกทาน แต่ที่เป็นไฮไลท์ไม่แพ้กับอาหารก็คือ ตัวการ์ตูน โมเดลต่าง ๆ ที่เรียงรายให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพกันในหลายมุม ใครอยากมาเที่ยวตลาดแห่งนี้เปิดทุกวัน เวลา 10.00-20.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 3572 3127


 
ที่อยู่  : วังน้อย, พระนครศรีอยุธยา
เครดิต : https://1th.me/q7dog


ตลาดโก้งโค้ง (บ้านแสงโสม)

ตลาดโก้งโค้ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณ "บ้านแสงโสม" (ลักษณะเป็นบ้านเรือนไทยหมู่ใหญ่ คงความเป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบโบราณ) เป็นตลาดโบราณบรรยากาศย้อนยุค คำว่า "ตลาดโก้งโค้ง" เป็นคำที่ใช้เรียกตลาดในสมัยโบราณ คือที่คนนั่งขายสินค้าจะนั่งอยู่บนพื้น คนที่มาซื้อจะต้องโก้งโค้งเลือกดูสินค้าที่ตนสนใจ สถานที่แห่งนี้ในอดีตกาลเป็นด่านขนอน หรือ ด่านเก็บภาษีในสมัยอยุธยาและเป็นสถานที่ที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิดทั้งที่เป็นสินค้าชุมชนและสินค้าที่มาจากต่างเมือง ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาสัมผัสบรรยากาศเก่า ๆ แบบสมัยกรุงศรีอยุธยา พบวิถีชีวิตไทยในอดีต มีการจัดจำหน่ายพืช ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษจากสวน สินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งอาหารคาว หวาน นานาชนิด พ่อค้า แม่ค้าแต่งกายย้อนยุค นอกจากนี้ในช่วงเช้าก่อนเปิดตลาด พ่อค้า แม่ค้า จะมีพิธีรำวงถวายพ่อปู่โสม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณตลาดแห่งนี้ หากใครมาตอนเช้า ๆ หรือมากับเป็นหมู่คณะ ชาวตลาดสวมชุดไทยงดงามจะออกมารำกลองยาวต้อนรับด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ขายก็แต่งกายชุดย้อนยุครอให้ลูกค้าได้ยลโฉมเช่นกัน สิ่งน่ารัก ๆ เหล่านี้นับเป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของตลาดโก้งโค้งเลยก็ว่าได้ ข้อมูลการเดินทาง หากเดินทางมาเอง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือหากมาโดยรถโดยสารประจำทาง สามารถโดยสารปรับอากาศไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีบริการทุกวัน วันละหลายเที่ยว โดยออกจากสถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร 2 ตลาดโก้งโค้ง 
จะเปิดให้มาเลือกซื้อของทุกวันพฤหัสบดี-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวและเส้นทางได้ที่ คุณนภาพร เวชพฤกษ์พิทักษ์ หมายเลขโทรศัพท์ 0 3572 8286, 08 9107 8443 หรือ 08 9925 1174

 
 
ที่อยู่  : หมู่ 5 ถนนบางปะอิน-วัดพนัญเชิง (ติดวัดบ้านเลน) ตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เครดิต :  https://1th.me/Xqsc5





แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only