13/10/64

อยุธยามีที่เที่ยวไหนบ้าง

หมู่บ้านโปรตุเกส

ตั้งอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก อยู่ทางใต้ของตัวเมือง ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2054 โดยอัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์ก ผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกส ประจำเอเซีย ได้ส่งนายดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส เป็นทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายและเป็นทหารอาสาในกองทัพกรุงศรีอยุธยา สร้างโบสถ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันบริเวณนี้ยังมีร่องรอยซากสิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็นคือ โบราณสถานซานเปโตรหรือเรียกในสมัยอยุธยาว่าโบสถ์เซนต์โดมินิค เป็นโบสถ์ในคณะโดมินิกัน นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทยเมื่อปี พ.ศ. 2083 ตั้งอยู่ในบริเวณเกือบกึ่งกลางหมู่บ้านโปรตุเกส มีเนื้อที่ประมาณ 2,400 ตารางเมตร ยาวตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนหน้าเป็นสุสาน ของชาวคาทอลิคคณะโดมินิกัน ส่วนกลางใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและฝังศพบาทหลวง ส่วนในด้านหลังเและด้านข้างเป็นที่พักอาศัยและมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับกำไลแก้วและเครื่องประกอบพิธีทางศาสนาเช่น ไม้กางเขน เหรียญรูปเคารพในศาสนา ลูกประคำ ในส่วนของสุสาน พบโครงกระดูกจำนวนมากมายถึง 254 โครง ฝังเรียงรายอย่างเป็นระเบียบและทับซ้อนกันหนาแน่นทั้งภายในและภายนอกอาคาร จากแนวโครงกระดูกที่พบแบ่งขอบเขตสุสานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนในสุดกลางตัวอาคารที่เป็นฐานโบสถ์ อาจเป็นโครงกระดูกของบาทหลวงหรือนักบวช ถัดมาส่วนที่สอง ส่วนนี้อาจเป็นผู้มีฐานะทางสังคมในค่ายโปรตุเกสสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป ส่วนที่สามนอกแนวฐานโบสถ์มีการฝังซ้อนกันมากถึง 3-4 โครง โครงกระดูกเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และบางส่วนชำรุด จากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการเกิดโรคระบาดร้ายแรงในปลายแผ่นดินพระเพทราชาเมื่อปี พ.ศ. 2239 มีผู้คนล้มตายมาก และในปี พ.ศ. 2255 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็เกิดโรคระบาดอีกครั้งมีผู้คนล้มตายมาก อาจเป็นเหตุให้มีการขยายสุสานออกมาจากเดิม



 
ที่อยู่  : หมู่ 1 พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา
เครดิต : https://1th.me/qlVQP



ตลาดลาดชะโด

ตลาดที่แฝงตัวอยู่ในบ้านเรือนและเป็นตัวขับเคลื่อนชุมชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยายุคกรุงแตกครั้งที่ 2 ตรงกับ พ.ศ. 2310 เดิมชื่อ บ้านจักราช เป็นเรือนแพพาณิชย์ของชาวจีนที่ค่อย ๆ ขยายจากตลาดน้ำขึ้นไปบนฝั่ง จนมีสภาพเป็นตลาดเรือนแถวไม้สองฝั่งที่มีทางเดินกว้างระหว่างกลาง ใช้หลังคาและท่าขนส่งสินค้าร่วมกันโดยชาวบ้านออกเงินกองกลางเป็นค่าใช้จ่ายรวมรอบข้างคือวัด โรงเรียน โรงสี โรงหนังและศาลเจ้าแต่ด้วยสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดริมน้ำซึ่งมีปลาชุกชุม โดยเฉพาะปลาชะโด จึงได้ชื่อใหม่ว่า ลาดชะโด นั่นเอง สภาพของตลาดกลางชุมชนนั้นราวกับหยุดเวลาไว้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นร้านถ่ายรูป ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ ร้านชำ ร้านยาไทยหมอจรัลที่มียารักษาไข้ทับระดูได้ชะงัดนัก ที่พักอาศัยของธีรศักดิ์ อัจจิมานนท์ เจ้าของเพลงกุหลาบแดงและลมลวง ศิลปินเพลงดังเมื่อหลายสิบปีก่อน พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าของนายกเทศมนตรี จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายข้าวของเครื่องใช้ในอดีต โรงเรียนลาดชะโดที่มีอาคารเรียนไม้ที่สุดในประเทศไทย วัดลาดชะโดที่ล้อมรอบด้วยลำคลองจนเหมือนอยู่บนเกาะมีศาลาวัดสร้างด้วยท่อนซุงยักษ์ และศาลเจ้าลาดชะโดที่สร้างตามความเชื่อเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ซ้ำ ๆ หลายครั้งดังในอดีต ไปที่ไหนเป็นต้องหาของอร่อย ตลาดลาดชะโดมีอาหารคาวหวานจานเด็ดที่หากินที่ไหนไม่ได้ง่าย ๆ ซึ่งใช้วัตถุดิบในชุมชน จึงรับรองความสด ปรุงรสเด็ดถึงเครื่องและปริมาณจุใจ เช่น แกงบอน ห่อหมกปลาช่อนใบยอ ต้มเค็มปลาตะเพียนใส่อ้อย สับปะรดและส้มมะขามสูตรโบราณ ปลาเห็ดทำจากปลาสร้อย ขนมต้มสมุนไพร ถั่วแปบใบเตย ฯลฯ ให้ได้ช็อปชิมและซื้อเป็นของฝากจนหนำใจ ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์เสน่ห์วิถีชีวิตเก่า ๆ ไว้ได้อย่างดียิ่ง จนกลายเป็นโลเกชั่นของผลงานดัง ๆ เช่น บุญชู ดงดอกเหมย รักข้ามคลอง สตางค์ และความสุขของกะทิ เป็นต้น และยังได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำ พ.ศ. 2549 ประเภทชุมชนพื้นถิ่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีซึ่งถือเป็นเกียรติคุณสูงสุดของตลาดร้อยปีแห่งนี้ นักท่องเที่ยวจะเดินเท้าชมตลาดหรือล่องเรือไปตามคลองลาดชะโด ชมการยกยอ ทอดแห บ้านเรือนไทยริมน้ำ ค่าบริการคนละ 10 บาทหรือเหมาลำ 50 บาท เปิดตลาดวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-15.00 น. สอบถามข้อมูลที่ เทศบาลตำบลลาดชะโด โทร. 0 3574 0263-4


ที่อยู่ : 99 หมู่ 1 บ้านลาดชะโด พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา
เครดิต : https://1th.me/R5K7G



ปางช้างอยุธยา แล เพนียด

วังช้างอยุธยา แล เพนียด หรือชื่อเดิมว่าปางช้างอยุธยา แล เพนียด เข้ามาเกื้อกูลการท่องเที่ยวของเมืองเก่า ในวาระที่องค์กรยูเนสโกแห่งสหประชาชาติประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาเป็นมรดกโลก ซึ่งจัดงานเปิดตัวยิ่งใหญ่ เพราะนำขบวนช้างใหญ่ถึง 109 เชือก มาทำพิธีคล้องช้างตามตำราหลวงเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 เวลาผ่านไป 20 ปี วังช้างแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางช้างรอบด้าน ทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งภายในมี ลานพักช้างใหญ่ เป็นโซนพักผ่อนของควาญและช้าง ใครผ่านไปใครผ่านมาก็ป้อนกล้วยอ้อยให้ช้างยื่นงวงมางับได้จากมือและเซลฟีกับช้างได้จากนอกลานที่มีเชือกกั้นไว้ อีกส่วนที่น่าไปชมคือ ที่ถือเป็นไฮไลต์เด็ด มีกิจกรรมถ่ายรูปคู่กับช้าง วันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะมีโชว์กิจกรรมประกอบจังหวะของช้างน้อยที่มีเสียงพากย์ประกอบเรียกเสียงหัวเราะอย่างเอ็นดู และกิจกรรมยอดฮิต ลอดท้องช้างเพื่อสิริมงคลที่แฝงความตื่นเต้นจากวันแรกที่มีช้างประจำการ 8 เชือก ปัจจุบันมีลูกหลานเพิ่มขึ้นมากว่า 100 เชือก และมีช้างที่ตกลูกรวมทั้งสิ้น 72 เชือก จึงผุดโครงการต่าง ๆ ที่สร้างคุณูปการอย่างยิ่งต่อประเทศไทย อาทิ ศูนย์การผสมพันธ์ช้าง (สืบสานสายพันธุ์) ช้างไทย โครงการอนุบาลช้างน้อย โครงการบ้านพักช้างชรา โครงการฝึกช้างแบบตำราหลวงไม่ผิดไปจากความปรารถนาในการตั้งชื่อปางว่า วังช้างอยุธยา แล เพนียด เพราะคำว่า แล แปลว่า แลมอง แลเห็น แลดู ส่วนคำว่าเพนียดหมายถึงที่สถานจับช้างในสมัยโบราณ จึงรวมความได้ว่าเป็นสถานที่พักพิงและดูแลช้าง 
วันธรรมดามีบริการขี่ช้างทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ราคา 100-500 บาท ตามระยะเวลา 15 หรือ 30 นาที ถ่ายรูปกับช้าง 40 บาท และมีที่พักให้ค้างคืนเพื่อสัมผัสการเลี้ยงช้างอย่างใกล้ชิด โทร. 08 6901 3981, 08 1821 7065
 
 
 
ที่อยู่ : พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา
เครดิต :  https://1th.me/AiYR3



ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร

ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (Bang Sai Arts and Crafts Centre) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอบางไทร สร้างขึ้นจากแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีพระราชประสงค์จะส่งเสริมและสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนแก่ราษฎร โดยทรงสนพระทัยในงานหัตถกรรมพื้นบ้านจากวัสดุในท้องถิ่น ซึ่งทำให้ผลงานมีความแตกต่างกันออกไปอย่างมีเอกลักษณ์ด้วย จึงทรงจัดครูไปฝึกสอน และพัฒนาคุณภาพของผลงานให้ดีขึ้น ซึ่งในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (Bang Sai Royal Folk art) ที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่ยอมรับไปทั่ว ทั้งในระดับประเทศและระดับสากลดังเช่นทุกวันนี้ สถานที่ที่น่าสนใจภายในศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ศาลามิ่งขวัญ อาคารทรงไทยประยุกต์จตุรมุขสูง 4 ชั้น เป็นศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (Thailand Art and Crafts) และศูนย์ศิลปาชีพจากทั่วประเทศ พร้อมจัดนิทรรศการผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพชิ้นเด่น ๆ มากมายให้ได้ทึ่งกับคุณภาพงานฝีมือของคนไทย หมู่บ้านศิลปาชีพ จำลองวิถีชีวิต การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และศิลปวัฒนธรรมไทยทั่วประเทศให้ได้ชมกัน ซึ่งจะมีการแสดงนาฏศิลป์และการละเล่นพื้นบ้านที่อาจจะหาชมได้ยาก แต่รวบรวมมาไว้ให้ได้ชมกันที่นี่ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันละหนึ่งรอบเท่านั้น ระหว่างเวลา 16.30-17.30 น. อาคารฝึกอบรมศิลปาชีพ แบ่งแยกออกเป็น 30 แผนก อย่างเช่น แผนกทอผ้าไหม แผนกทอผ้าตีนจก แผนกช่างไม้เครื่องเรือน แผนกวาดภาพสีน้ำมัน แผนกช่างเขียนภาพลายไทย แผนกเป่าแก้ว แผนกตัดเย็บเสื้อผ้า แผนกช่างศิลปประดิษฐ์ แผนกประดิษหัวโขน แผนกสานผักตบชวา แผนกเครื่องหนัง แผนกเซรามิก เป็นต้น ใครอยากจะเรียนรู้งานฝีมือประเภทใด รับรองว่าที่นี่จัดเตรียมไว้ให้ชมทุกแบบและทุกขั้นตอน ซึ่งจะได้เห็นความอุตสาหะของช่างฝีมือที่ทำงานอย่างอดทนและประณีตอย่างน่าทึ่ง สวนนก มีกรงนกขนาดใหญ่ 2 กรง ภายในกรงจัดสภาพแวดล้อมคล้ายป่า มีต้นไม้ ลำธาร สำหรับนกนั้นมีนกหายากกว่า 100 ชนิด เช่น นกชาปีไหน นกกาฮัง นกเงือก นกสาลิกาเขียว นกยูงไทย เป็นต้น วังปลา มีตู้แสดงพันธุ์ปลา 2 ตู้ จัดแสดงปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด ทั้งปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ และปลาที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น ปลาตะเพียนทอง ปลาเสือพ่นน้ำ กระเบนราหู ปลาบึก เป็นต้น ภายในอาคารยังมีภาพเขียนปลาไทยพร้อมคำบรรยาย 
เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. วันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-17.00 น. นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถไฟเล็ก ได้โดยไม่เสียค่าบริการ สอบถามรายละเอียดที่ประชาสัมพันธ์ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร โทร. 0 3536 6252-4, 0 3528 3246-9


ที่อยู่ : บางไทร, พระนครศรีอยุธยา
เครดิต :  https://1th.me/A1dIW
 
 
 
 
 

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์

ปอดแห่งเมืองอยุธยา สวนสาธารณะบนเนื้อที่กว้างขวางถึง 152 ไร่ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 80 พรรษาลำดับที่ 2 ในบริเวณพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นประธานเปิดสวนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 แนวคิดของการสร้างสวนสาธารณะเทิดพระเกียรติแห่งนี้ ต้องการให้มีสภาพแวดล้อมกลมกลืนไปกับความเป็นเมืองเก่าของอยุธยา จึงมีการดัดแปลงพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงโครงข่ายถนนและคลองโบราณ เพื่อไม่ให้กระทบกับการขุดค้นของนักโบราณคดีต่อไปในภายภาคหน้า และยังคำนึงถึงความต้องการของคนในชุมชนที่ปรารถนาพื้นที่สีเขียวอันร่มรื่น เป็นแหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการมาเดินเล่น พักผ่อนหย่อนใจและกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ จึงมีลักษณะเป็นสวนเปิดโล่ง และมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาร่มรื่นกระจายอยู่ทั่วสวน โดยมีศาลาเป็นจุดพัก เช่น ศาลาทรงไทยที่จัดสร้างเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จเป็นประธานเปิดสวน และศาลาอื่น ๆ ที่นี่ยังไม่พลาดแต่งเติมบรรยากาศกรุงเก่า ด้วยมีโบราณสถานหลายแห่ง เช่น เจดีย์และถนนโบราณ ให้ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม พร้อมพัฒนาสวนป่าสมุนไพร รวมทั้งสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีเสด็จแทนพระองค์มาเปิดพระราชานุสาวรีย์เมื่อ พ.ศ. 2543 ให้ประชาชนชาวอยุธยาได้สักการะด้วย สวนเปิดทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น.
 
 
 
ที่อยู่ : ถนนอู่ทอง พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา
เครดิต : https://1th.me/2TbPG


 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only