25/11/63

5 สถานที่ไหว้พระขอพร จ.นนทบุรี

วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร


วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ดังปรากฎพระเจดีย์มุเตาซึ่งเป็นเจดีย์ทรงมอญ ปัจจุบันอยู่ติดริมแม่น้ำกระแสน้ำกัดเซาะฐานราก

ใครมาเยือนเกาะเกร็ดต้องไม่พลาดที่จะไปชมวัดมอญเก่าแก่ริมน้ำซึ่งร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ "วัดปรมัยยิกาวาส" เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหารสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากพระเจ้าท้ายสระโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเมื่อ พ.ศ. 2264 จึงเรียกชื่อ "วัดปากอ่าว" ต่อมาพม่าบุกยึดเมืองนนทบุรีวัดแห่งนี้ได้กลายเป็นวัดร้างกระทั่ง พ.ศ. 2317 ชาวมอญที่อพยพมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ต่อมาใน พ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดใหม่โดยรักษารูปแบบมอญไว้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลสนองพระคุณพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์และได้พระราชทานนามวัดว่า "วัดปรมัยยิกาวาส" มีความหมายว่าวัดของพระบรมอัยยิกาวัดแห่งนี้ไม่เพียงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำเมืองนนทบุรี "พระนนทมุนินท์" พระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชรยังมีความสำคัญและความสวยงามที่ควรค่าแก่การเรียนรู้อีกมากมายหากเข้าไปภายในพระอุโบสถจะเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประยุกต์บานประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นเขียนสีกำแพงแก้วที่ล้อมรอบเป็นกำแพงเหล็กจากยุโรปเน้นลวดลายสวยงามด้านหลังพระอุโบสถมีพระเจดีย์แบบมอญซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ มาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหารามัญเจดีย์นี้เมื่อ พ.ศ. 2427 ใกล้กันนั้นมีพระวิหารภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในอำเภอปากเกร็ดส่วนด้านหน้าพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนรวมถึงพระพุทธรูปประจำเมืองนนทบุรีก็อยู่บริเวณนี้ด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ +66 2584 5120

 

ที่อยู่ : 51 หมู่ 7 ถนนแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด, นนทบุรี

เครดิต : https://1th.me/m3bJk

 

วัดปราสาท


วัดปราสาท สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หน้าบันพระอุโบสถเป็นไม้สักสลักรูปนารายณ์ทรงครุฑ

จากร่องรอยสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันจึงทำให้วัดสังกัดมหานิกายแห่งนี้ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติสันนิษฐานกันว่า "วัดปราสาท" สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายดูได้จากอุโบสถแบบมหาอุต คือ ผนังด้านข้างทั้งสองไม่มีหน้าต่างด้านหน้ามีประตูทรงปราสาทประดับลวดลายปูนปั้นด้านหลังมีเพียงช่องแสงเล็ก ๆ หลังพระประธานเวลาแสงส่องผ่าน ทำให้เกิดรัศมีเจิดจ้ากระจายรอบองค์พระสวยงามและมหัศจรรย์อย่างวิเศษสุดผนังของอุโบสถเป็นภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่นเรื่องทศชาติ หลังคาด้านหน้าเชิดขึ้นเล็กน้อยฐานเป็นเส้นโค้งแบบเดียวกับหลังคาหน้าบันจำหลักสวยงามพระประธานและพระพุทธรูปจัดเป็นหมู่รอบองค์พระประธานดูจากฐานชุกชีเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาส่วนพระประธานเป็นศิลปะอู่ทองจึงไม่ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกันในสมัยอยุธยาเช่นเดียวกับวัดโบสถ์แห่งนี้ยังมีสภาพที่สมบูรณ์และงดงามอีกทั้งมีขนาดพอเหมาะกับชุมชนและจำนวนพระสงฆ์ที่ทำสังฆกิจนอกจากนี้ยังมีธรรมมาสน์สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง-ปลายตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญ (ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่หรือพระสงฆ์ในการเข้าชมเพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษา) เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08 1809 5677

 

ที่อยู่ : 18 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย เมืองนนทบุรี, นนทบุรี

เครดิต : https://1th.me/vDv6J

 

วัดโพธิ์บางโอ

วัดโพธิ์บางโอ ตั้งอยู่ในถนนเส้นบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลวัดชลอ หรือ หากไปทางน้ำต้องเดินจากท่าเรือเข้าไปประมาณ 200 เมตร เป็นวัดเก่าในสมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยกรมหลวงเสนีบริรักษ์ (ต้นสกุล เสนีวงศ์) พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง พระอุโบสถ ทำชายหลังคาของพาไลรอบพระอุโบสถแบบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หน้าบันสลักไม้รูปนารายณ์ ทรงครุฑลายกนกขมวดเกี่ยวพันกัน เบื้องหลังมีเทพพนมและยักษ์พนม ซุ้มประตูทางเข้าวัดทำเป็นหัวเม็ด เป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สูงขึ้นและเอนเข้าหากัน เพื่อเป็นการรับน้ำหนักของตัวอาคาร เสาใกล้จะถึงส่วนหลังกำแพงแก้วมีบัวหงายรองรับอีกต่อหนึ่งแปลกตากว่าที่อื่น เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย สังเกตได้จากซุ้มเสมาทรงกลมตลอด ฐานของซุ้มก็ทรงกลมตัวซุ้มแหวะ เป็นช่องหน้าต่างสามช่อง ทรงยอดโค้งคล้ายซุ้มจระนำ หันหลังชนกันสามทิศ ข้างบนมียอดเล็ก ๆ ปั้นปูนลวดลายงดงาม รับกับบัวยอดซุ้มและแข้งสิงห์เบื้องล่าง ศิลปะรูปปั้นงามนี้เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายลักษณะลวดลายบ่งชัดว่าเป็นฝีมือช่างสมัยพระบรมโกศ ใบเสมาเป็นหินทรายทำรูปหัวนาคออกสองข้างเอวเสมาเหมือนกันแต่ทรงด้านบนอวบอ้วน ใบเสมาแบบนี้อายุเก่ากว่าใบเสมาสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ใบเสมาช่วงหลังจะทรงเพรียวกว่า มีเจดีย์ทิศล้อมรอบตัวพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน ซุ้มบันแถลงประดับกรอบประตูหน้าต่างทำจากปูนน้ำอ้อย บานประตูพระอุโบสถทั้งหน้าและหลังมีด้านละสองบาน ปั้นปูนซุ้มประตูเป็นรูปฤาษีพนมและบางซุ้มก็ทำรูปเทวดารำอยู่กลางซุ้ม เข้าใจว่าเป็นฝีมือปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 บานประตูเขียนลายทองรูปกนกใบเทศลายละเอียดมาก บนหน้าต่างก็เขียนลายทอง คือเป็นลายรดน้ำเช่นเดียวกับประตู ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมแป้งสาคูเปียกฝีมือช่างสกุลนนทบุรี ภาพระหว่างช่องหน้าต่างเขียนรูปปริศนาธรรม ผนังด้านซ้ายพระประธาน เขียนรูปพระปลงกัมมัฏฐานในลักษณะหลายแบบหลายวิธี ผนังด้านหน้าเขียนรูปพุทธประวัติแสดงถึงพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของพระพุทธองค์ พระพุทธรูปในพระอุโบสถ ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่หน้าพระอุโบสถยังมีรูปสลักหินทำจากเมืองจีน คล้ายเป็นรูปยักษ์รักษาวัด ตนหนึ่งหน้าดุอีกตนหนึ่งหน้ายิ้ม มือถือกระบองด้วยกันทั้งคู่เป็นศิลปะอันงดงามเป็นของประจำวัด ซึ่งตามวัดในอาณาบริเวณแถบนี้ไม่มีภาพสลักชนิดนี้ หอระฆังวัดโพธิ์บางโอ หอระฆังที่วัดนี้เป็นสกุลช่างเมืองนนทบุรีทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชชนนีเป็นสกุลฝ่ายเมืองนนทบุรี จึงทรงอุปการะการสร้างวัดในเขตนนทบุรี แบบมณฑปยอดเจดีย์ผสมกันระหว่างหอสูงรูปสี่เหลี่ยมและเจดีย์ย่อมุม

 

ที่อยู่ : ถนนบางกรวย-ไทรน้อย บางกรวย, นนทบุรี

เครดิต : https://1th.me/9vvBE 

 

วัดปรางค์หลวง

วัดปรางค์หลวง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ประมาณ พ.ศ. 1904 เดิมชื่อวัดหลวงต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "วัดปรางค์หลวง" พระปรางค์ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหารน้อยลักษณะองค์ก่ออิฐสอดินยอดเจ็ดชั้นย่อมุมไม้ยี่สิบประดับลายปูนปั้นเรือนธาตุมีซุ้มจรนำทั้ง 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองผนังเรือนธาตุทึบไม่มีประตู หากปัจจุบันสภาพองค์พระปรางค์ชำรุดไปมาก นอกจากนี้ยังมีปูชนียวัตถุสำคัญอย่างพระประธานในอุโบสถ "หลวงพ่ออู่ทอง" พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัยหน้าตัก 9 คืบ ส่วนกุฏิกรรมฐานสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับวัดและปรางค์หลวงเดิมใช้เป็นที่พักอาศัยและนั่งกรรมฐานของพระภิกษุสงฆ์ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมเป็นที่เรียบร้อยแล้วและในเดือนมิถุนายนของทุกปีทางวัดจะจัดงานนมัสการหลวงพ่ออู่ทองและปิดทองเพื่อให้ประชาชนเข้าชมพร้อมกราบสักการบูชาได้ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00-16.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0 2595 1477

 

ที่อยู่ : 32 หมู่ 1 บางใหญ่, นนทบุรี

เครดิต :  https://1th.me/yq29U

 

วัดโชติการาม

วัดโชติการาม ตั้งอยู่ที่ตำบลบางไผ่ ไปทางที่ว่าการ อบต.บางไผ่ เดิมชื่อวัดสามจีน สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2350 ซุ้มประตูหน้าต่างที่พระอุโบสถเป็นลวดลายปูนปั้นประดับเครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์

โบราณสถานภายใน "โชติการาม" จะมีความสวยงามในแบบเฉพาะ สังเกตได้จากรายละเอียดในการตกแต่งมีการใช้เครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์เข้ามาเป็นองค์ประกอบวัดนี้สร้างประมาณ พ.ศ. 2350 เดิมชื่อ "วัดสามจีน" ตัวพระอุโบสถของวัดเป็นแบบก่ออิฐถือปูนสูงถึงอกไก่ไม่มีช่อฟ้าใบระกาด้านหน้ามีพาไลหน้าบันปั้นเป็นรูปภูริทัตชาดกท่ามกลางลายปูนปั้น ต้นไม้ดอกไม้ประดับ เครื่องถ้วยชาม รวมทั้งซุ้มจระนำก็ประดับถ้วยชามด้วยเช่นกันน่าจะเป็นแบบพระราชนิยมที่ทำกันในสมัยรัชกาลที่ 3 วิหารทรงโรงก่ออิฐถือปูน 3 ห้องภายในมีพระประธานปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีงดงามด้วยงานจิตรกรรมฝาผนังตั้งแต่พื้นจรดเพดานส่วนใหญ่เป็นภาพพุทธประวัติตอนต่าง ๆ ประตูด้านหน้าวิหารสลักเป็นภาพทวารบาลอย่างจีน ถ้าจำไม่ผิดจะคล้ายที่วัดนางชีส่วนด้านหลังบานประตูหน้าต่างเขียนภาพแจกันทรงสูงใส่ดอกไม้อย่างเครื่องบูชาแบบจีนผนังด้านหน้าพระประธานช่วงบนเขียนภาพมารผจญตามคตินิยมของการเขียนภาพทั่วไปในพระอุโบสถสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอาจารย์น. ณ ปากน้ำจึงสันนิษฐานว่าเดิมวิหารนี้อาจเคยเป็นพระอุโบสถมาก่อนเหนือภาพมารผจญเป็นภาพเทพชุมนุมสูงขึ้นไปเป็นภาพอดีตพุทธซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในรัชกาลที่ 4 และที่นี่ยังมีธรรมมาสน์สมัยอยุธยาโดยอาจารย์น. ณ ปากน้ำได้ดูจากลวดลายแล้วคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงอยุธยาตอนต้นซึ่งนักวิชาการยังกล่าวว่าเป็นธรรมมาสน์ที่เก่าที่สุดในย่านนี้ตัววิหารโอบล้อมด้วยกำแพงแก้วโดยปรางค์ขนาดเล็กประดับกระเบื้องเหลืองอยู่ที่มุมกำแพงทั้งสี่ระหว่างโบสถ์กับวิหารมีเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบตั้งแต่องค์ระฆังขึ้นไปประดับกระเบื้องสีเหลืองรูปทรงงดงามคล้ายเจดีย์สี่รัชกาลที่วัดโพธิ์ท่าเตียน 

 เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ +66 2580 0705-6

 

ที่อยู่ : 36 หมู่ 3 ถนนรัตนาธิเบศร์ เมืองนนทบุรี, นนทบุรี

เครดิต : https://1th.me/kueRe

 

 



 

 



 

 

 

 

 

 

 

 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only