13/10/64

ไหว้พระ จ.พระนครศรีอยุธยา

วัดบางนมโค

วัดดังประจำอยุธยา ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนทั่วประเทศ ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อปาน โสนันโส พระสงฆ์ผู้มีความรู้รอบด้านอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่พระธรรม กัมมัฏฐาน การแพทย์แผนโบราณ การสร้างพระ ไปจนถึงการสร้างเกราะยันต์ แม้เมื่อท่านมรณภาพไปตั้งแต่ พ.ศ. 2481 หากรูปหล่อหลวงพ่อปานภายในมณฑปด้านหน้าวัด เต็มไปด้วยทองคำเปลวที่ประชาชนแปะสักการะท่านจนทองอร่ามตลอดมานับแต่นั้น วัดบางนมโคสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ปีและผู้ก่อสร้างไม่ปรากฏหลักฐาน แต่มีบทบาทเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 กองทัพพม่าตั้งค่ายในแถบนี้และกวาดต้อนวัวควายไปเป็นเสบียงเสียจนเกือบจะหมดสิ้น ชาวบ้านจึงเรียกชุมชนนี้ว่า ล้างนมโค ต่อมาแผลงเป็นบางนมโค เนื่องจากมีทุ่งหญ้าสมบูรณ์จึงมีการเลี้ยงวัวควายกันมาก วัดนี้จึงได้ชื่อวัดบางนมโคตราบจนถึงปัจจุบัน จากมณฑปหลวงพ่อปานซึ่งมีรูปหล่อ อัฐิ และหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อตั้งอยู่ภายใน เข้ามาสู่บริเวณวัดเพื่อนมัสการพระประธานนามว่าพระพุทธโสนันทะ ในพระอุโบสถที่หลวงพ่อปานที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2467 รายล้อมด้วยใบเสมาทอง ด้านหน้าคือรูปหล่อหลวงพ่อปาน และชมภาพวาดบนผนังบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีนาถฯ และสมเด็จพระเทพรัตราชสุดา สยามมกุฎราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังวัดบางนมโคเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2517 หลวงพ่อปานยังให้สร้างชั้นใต้ดินโดยมีบันไดทางลงไปสู่ห้องกว้าง ที่มีภาพวาดนรกสวรรค์เพื่อเตือนใจพุทธศาสนิกชน ส่วนด้านหลังพระอุโบสถคือพระธาตุเจดีย์ ซึ่งหลวงพ่อปานสร้างขึ้นใหม่แทนองค์เดิมที่ชำรุดทรุดโทรม เป็นที่มาของการสร้างพระรุ่นแรก รูปพระพุทธเจ้าประทับบนบัลลังก์เหนือสัตว์ต่าง ๆ ทั้งเจ็ด เมื่อ พ.ศ. 2450 ซึ่งมีชื่อเสียงขจรขจายในหมู่นักบูชาอย่างมาก ทุกปีวัดบางนมโคจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่ พิธีสักการะรำลึกพระเดชพระคุณหลวงพ่อปานทุกวันที่ 26 กรกฎาคม สักการะหลวงพ่อปานได้ทุกวันเวลา 08.00-16.30 น.
 
 
 

ที่อยู่ : เสนา, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต :  https://1th.me/F1UoH


วัดภูเขาทอง

วัดภูเขาทองยังเป็นชัยภูมิที่มีบทบาทสำคัญในสงครามไทย-พม่าที่ทำให้กรุงแตกทั้ง 2 ครั้ง โดยวัดได้ชื่อตามมหาเจดีย์ภูเขาทองที่มีความสูงถึง 90 เมตร ตามพระราชพงศาวดารอยุธยากล่าวไว้ว่า วัดภูเขาทอง สถาปนาในรัชสมัยพระราเมศวร สมัยอยุธยาตอนต้นในสงครามที่พระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่ามีชัยเหนืออยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์แบบมอญผสมพม่าก่อทับองค์เจดีย์เดิมของวัดแห่งนี้ เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือทัพไทยเอาไว้ แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างได้แต่ส่วนฐานทักษิณส่วนล่างแล้วยกทัพกลับ จากนั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ใน พ.ศ. 2127 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์แบบไทยไว้เหนือฐานแบบมอญและพม่า จึงมีสถาปัตยกรรมหลายแบบผสมผสานกันอยู่ แต่เจดีย์ภูเขาทองที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าได้รับการบูรณะให้สูงใหญ่ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาถึงสมัยพระเพทราชา ระหว่าง พ.ศ. 2112-2246 ก่อนจะบูรณะใหญ่อีกครั้งสมัยพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งเป็นช่วงอยุธยาตอนปลายแล้ว โดยปฏิสังขรณ์เป็นฐานทักษิณ 4 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทั้ง 4 ด้านขึ้นไปจนถึงฐานทักษิณชั้นบนสุด ซึ่งมีฐานสี่เหลี่ยมขององค์เจดีย์ที่มีอุโมงค์รูปโค้งเข้าไปข้างใน ประดิษฐานพระพุทธรูป 1 องค์ เหนือขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมองค์ระฆังและบัลลังก์ และเหนือขึ้นไปอีกคือปล้องไฉน ปลียอด และลูกแก้ว ซึ่งพังทลายในสมัยต้นรัตนโกสินทร์แต่ซ่อมแซมขึ้นใหม่ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2499 โดยทำลูกแก้วทองคำหนัก 2,500 กรัม เป็นสัญลักษณ์การบูรณะในวาระครบ 25 พุทธศตวรรษช่วงสงครามก่อนกรุงแตกครั้งแรก มีการขุดคลองมหานาคเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญระหว่างพระนครด้านแม่น้ำลพบุรีกับวัดภูเขาทอง ส่วนเขตพุทธาวาสเดิมยังหลงเหลือแนวกำแพงแก้วล้อมรอบ 688 เมตร ภายในประกอบไปด้วยวิหารขนาดเล็ก อุโบสถใหญ่ด้านหน้ามีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง 4 องค์ ทว่าหลังกรุงแตกครั้งที่ 2 วัดภูเขาก็กลับกลายเป็นวัดร้างเช่นเดียวกับทั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ยังมีผู้คนจากทุกแห่งหนเดินทางมาสักการะพระมหาเจดีย์อยู่เช่นเดิม ดังปรากฎในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จนมาถึง พ.ศ. 2500 จึงได้มีพระสงฆ์มาจำพรรษาที่วัดนี้อีกครั้ง กรมศิลปากรได้สร้างอนุสาวรีย์พระนเรศวรทรงม้าศึกกลางถนนทางเข้าวัดเพื่อเทิดพระเกียรติกษัตริย์นักรบผู้กอบกู้เอกราชไว้ด้วย เปิดให้เข้านมัสการทุกวัน เวลา 08.30-17.00 น.

 

 

ที่อยู่ : 153 หมู่ 2 ถนนทางหลวงหมายเลข 309 กม. 26 พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต : https://1th.me/cUFTN


วิหารพระมงคลบพิตร

วิหารพระมงคลบพิตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นที่ประดิษฐานพระมงคลบพิตร พระพุทธรูปบุสำริดปางมารวิชัย ที่สะท้อนภูมิปัญญาในศาสตร์แห่งโลหะและความชำนิชำนาญของช่างฝีมือไทยในหล่อโลหะโดยเฉพาะงานหล่อสำริดโลหะสำคัญในสมัยอยุธยา มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตรและสูง 12.45 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งในประเทศไทย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากทิศตะวันออกนอกพระราชวังมาไว้ทางด้านทิศตะวันตกที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน และโปรดเกล้าฯ ให้ก่อมณฑปสวมไว้ ทว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เกิดฟ้าผ่ายอดมณฑปพระมงคลบพิตรเกิดไฟไหม้ทำให้ส่วนบนขององค์พระมงคลบพิตรเสียหาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมใหม่ แปลงหลังคายอดมณฑปเป็นมหาวิหารและต่อพระเศียรพระมงคลบพิตรในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วิหารพระมงคลบพิตรถูกข้าศึกเผาทำลายจนเสียหาย ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้การปฏิสังขรณ์ใหม่ ซึ่งยังคงเค้าความเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา และสามารถเป็นแบบอย่างของพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนกลางได้อย่างดี สำหรับบริเวณข้างวิหารพระมงคลบพิตรทางด้านทิศตะวันออกแต่เดิมเป็นสนามหลวง ใช้เป็นที่สำหรับสร้างพระเมรุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเช่นเดียวกับท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ นอกจากจะได้นมัสการพระพุทธรูปหล่อขนาดใหญ่องค์เดียวในประเทศไทยแล้ว พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวนิยมแวะด้านหน้าวัด ซึ่งจำหน่ายของพื้นเมือง อาหารคาวหวาน ผลไม้ ขนม โรตีสายไหม เครื่องจักสานและของดีเมืองอยุธยาหลากหลายชนิด ที่นี่จึงเป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาและหมุดหมายการท่องเที่ยวแห่งสำคัญ 
เปิดให้สักการะองค์พระได้ทุกวัน วันธรรมดาเปิดตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์เปิดเวลา 08.00-17.00 น. จะเดินเท้าชมวัดมงคลบพิตรต่อด้วยวัดพระศรีสรรญเพชญ์ หรือขี่ช้างชมวัดที่วังช้างอยุธยา แลเพนียดเตรียมไว้ให้บริการก็ได้ แผนที่การเดินทางไปวิหารพระมงคลบพิตร http://www.tourismthailand.org/fileadmin/upload_img/Multimedia/Ebrochure/477/วิหารพระมงคลบพิตร.pdf

 

 

ที่อยู่ : พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต : https://1th.me/PQG2z

 

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร

วัดกษัตรา อันหมายถึง วัดของพระมหากษัตริย์หรือวัดของพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าที่นี่เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์ใดพระองค์หนึ่งทรงสร้างเอาไว้ หากไม่ปรากฎนามผู้สร้าง มีเพียงหลักฐานที่จารึกไว้ในพงศาวดารที่กล่าวถึงวัดกษัตราในแผ่นดินสมเด็จพระสุริยามรินทร์ ความว่า แรม 14 ค่ำ เดือน 5 ( พ.ศ. 2303) พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้งที่วัดราชพฤกษ์และวัดกษัตราวาส ยิงเข้ามาในพระนครถูกบ้านเรือนราษฎรล้มตายจำนวนมาก วัดเก่าแก่แห่งนี้ถูกเพลิงไหม้วอดวายเมื่อครั้งกรุงแตกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 นับแต่นั้นจึงถูกทิ้งร้าง จนได้รับการบูรณะเรื่อยมาในแผ่นดินราชธานีรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) กรมพระราชบวรสถานภิมุข (กรมพระราชวังหลัง) ได้บูรณะวัดกษัตราขึ้นใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดกษัตราธิราช ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ต้นราชสกุลอิศรางกูร ได้ปฏิสังขรณ์พระอารามเมื่อ พ.ศ. 2349 และมีพระสงฆ์จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ได้ ในรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดกษัตราธิราชวรวิหาร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกวัดกษัตราธิราชเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 เป็นพระอารามหลวงลำดับที่ 9 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยเหตุว่าเป็นวัดที่มีความงดงามและสมบูรณ์แบบที่สุดซึ่งตกทอดมาจากสมัยอยุธยา จึงเป็นปูชนียสถานที่น่าไปเที่ยวชม เช่น พระอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธกษัตราธิราชซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม ตั้งอยู่บนฐานชุกชี ในลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัยซึ่งต่อมามีการลงรักปิดทองประดับอย่างงดงาม ส่วนตัวพระอุโบสถเต็มไปด้วยงานฝีมือช่างสลักเสลาวิจิตรนัก อาทิ เสามีคันทวยไม้จำหลักรูปพญานาค รองรับชายคาปีกนกทั้งสองด้าน หัวเสาเป็นลายบัวแวง ด้านหน้าประดับซุ้มบุษบกบัญชร ส่วนด้านหลังมีมุขเด็จประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ หลังคาประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ มุงด้วยกระเบื้องกาบูหรือกระเบื้องกาบกล้วยดินเผา หน้าบันทั้ง 2 ด้าน จำหลักลายดอกพุดตาน มีสาหร่ายรวงผึ้งคั่นสลับระหว่างเสาสืบทอดรูปแบบมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนพื้นภายในพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลีที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานแด่พระครูวินยานุวัติคุณ (ทรง ธัมมสิริโชติ) อดีตเจ้าอาวาสเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากการก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ และยังมีพระวิหารอีก 2 ด้าน เป็นที่ตั้งรูปหล่อสมเด็จพระพนรัตน์ซึ่งมีอยู่ที่วัดนี้แห่งเดียวเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อแก่ และยังมีรูปหล่อของหลวงปู่เทียมอดีตเจ้าอาวาสพระเกจิอาจารย์ชื่อดังด้านตะกรุดอยู่ยงคงกระพันและเมตตา จัดว่าเป็นอารามหลวงที่งดงามซึ่งจะมาศึกษางานศิลป์ชั้นสูงหรือสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชื่อดังประจำจังหวัด เปิดให้เข้านมัสการในเวลา 08.00-16.30 น.

 

ที่อยู่ : 15 หมู่ 7 ถนนเสนา-สุพรรณ พระนครศรีอยุธยา, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต : https://1th.me/VjH7d


วัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร

วัดชุมพลนิกายาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่หัวเกาะบางปะอิน ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดต่อกับเขตอุปจาระพระราชวังบางปะอิน และอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา วัดนี้จึงเป็นอีกวัดที่มีทัศนียภาพงดงามน่าชม สันนิษฐานว่าสร้างโดยพระเจ้าปราสาททองในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อปีวอก พ.ศ. 2175 ตรงบริเวณที่เป็นเคหสถานเดิมของพระราชชนนีของพระองค์ วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะในยุครัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 จนมีอาคารต่าง ๆ ดังเช่นที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดแห่งนี้คือพระอุโบสถหลังงาม ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปหินทรายปูนปั้นถึง 7 องค์ ซึ่งนับว่าเป็นคติการประดิษฐานพระประธานที่แปลกไปจากที่อื่น ได้แก่ พระวิปัสสีสิขี เวสสภู กกุสันธะ โกนาคมนะ กัสสปะ และโคตมะ พร้อมด้วยพระสาวกอีก 4 องค์ นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมภิกษุณีครองจีวรมิดชิด ซึ่งหาดูได้ยาก รวมถึงพระศรีอาริยะเมตไตรโพธิสัตว์เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประดิษฐานอยู่ที่ด้านหน้าพระอุโบสถ ภายในพระอุโบสถปรากฏภาพเขียนพระพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ ที่ฝาผนังทุกด้านอย่างงดงาม แม้จะได้รับการดูแลอย่างดี แต่ด้วยกาลเวลาผ่านไปภาพเขียนส่วนหนึ่งก็ได้ลบเลือนไปบ้างแล้ว และที่บานประตูมีภาพวาดของเครื่องบูชาแบบจีนซึ่งต่างจากวัดอื่น ๆ ซึ่งมักวาดภาพของทวารบาลนั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้น วัดแห่งนี้ยังมีพระเจดีแบบย่อมุมไม้สิบสองศิลปะแบบอยุธยาให้ได้ชม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุรอให้ผู้ไปเยี่ยมเยือนได้มาสักการะ หากใครได้มาเยือนอยุธยาคงจะต้องรู้สึกเสียดายไม่น้อยหากไม่ได้มาชมวัดชุมพลนิกายาราม เพราะนอกจากจะได้ชมศิลปะของสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาผสมผสานกับแบบรัตนโกสินทร์แล้ว ยังจะได้เรียนรู้คติต่าง ๆ ที่แปลกไปจากวัดอื่น ๆ อีกด้วย

 

 

ที่อยู่ : หมู่ 4 บางปะอิน, พระนครศรีอยุธยา

เครดิต : https://1th.me/0daNE

 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only