23/1/64

ท่องเที่ยวมุกดาหาร

หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก

หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 50 ปี หอแก้วมุกดาหารมีลักษณะเป็นหอคอยสูง ส่วนฐานของหอคอยเป็นอาคารทรงเก้าเหลี่ยม 2 ชั้น (ความหมายตรงกับรัชกาลที่ 9) ความกว้างของเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เมตร ชั้นที่ 1 จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตของชาวมุกดาหาร ชั้น 2 เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติเมืองมุกดาหารวัตถุโบราณ ภาพถ่ายเก่า ตลอดจนเครื่องแต่งกายชาวไทยพื้นเมืองมุกดาหาร 8 เผ่า ชั้นที่ 3-5 เป็นส่วนแกนของหอคอย ชั้น 6 เป็น จุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพรอบตัวเมืองมุกดาหาร แม่น้ำโขงและแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชั้นบนสุด (ชั้น 7) เป็นหอพระประดิษฐานพระพุทธรูปนวมิ่งมงคลมุกดาหาร และพระประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-17.30 น. อัตราค่าเข้าชมสำหรับประชาชนทั่วไป 30 บาท เด็ก 10 บาท และชาวต่างชาติ 50 บาท หากเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ (นักเรียน นักศึกษา) สามารถทำหนังสือขอความอนุเคราะห์เข้าชมไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหารได้

 

ที่อยู่ : 93 หมู่ที่ 3 เมืองมุกดาหาร, มุกดาหาร

เครดิต : http://1ab.in/IxK

 

อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ

เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 59 ของประเทศไทย มีเนื้อที่ 48.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 30,312.5 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหารและอำเภอดอนตาล ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่หลายลูกติดต่อกันแบบลูกคลื่นและเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน เทือกเขาเหล่านี้วางตัวในลักษณะแนวเหนือ-ใต้ขนานและห่างจากชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 4 กิโลเมตร ภายในอุทยานภูผาเทิบประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ ภูหลักเส และยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมศรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-420 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรัง และป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยตาเหลือก ห้วยสิงห์ ห้วยเรือ ห้วยมะเล ห้วยช้างชน เป็นต้น แถบบริเวณเชิงเขาเป็นป่าไผ่ขึ้นสลับเป็นแนว หลายบริเวณเป็นหน้าผาสูง และลานหินกว้าง มีหินรูปร่างแปลก ๆ มากมาย สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจของอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ได้แก่ กลุ่มหินเทิบ การเกิดกลุ่มหินเทิบจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นที่มาของประติมากรรมธรรมชาติที่ล้วนเกิดจากการกัดเซาะของฝน น้ำ ลมและแสงแดด ผ่านกาลเวลามาถึง 120-95 ล้านปีทำให้กลุ่มหินเหล่านี้มีสภาพแตกต่างกันไปดูคล้ายรูปเครื่องบินไอพ่น จานบิน เก๋งจีน มงกุฎ หัวจระเข้และหอยสังข์ ซึ่งความคงทนของชั้นหินที่แตกต่างกันก็เนื่องจากการประสานของเนื้อทรายแตกต่างกัน หินทรายชั้นบนที่คงทนมีสีเนื้อหินเป็นสีน้ำตาล มีส่วนประกอบที่เป็นซิลิกาและเม็ดกรวดมาก ส่วนหินทรายชั้นต่ำลงมาที่ไม่คงทนมีสีของเนื้อหินเป็นสีขาวจะมีส่วนผสมของคาร์บอเนตมากสภาพของธรณีวิทยา บริเวณกลุ่มหินเทิบประกอบด้วยหินชั้นของหมวดหินเสาขัวและกลุ่มหินภูพานของกลุ่มหินโคราช มีการลำดับชั้นหินอยู่ในมหายุคมีโซโซอิค ประกอบด้วยหินโคลน หินทราย หินทรายแป้ง และหินกรวดมนหนาประมาณ 200 เมตร ลานมุจลินท์ เป็นลานหินเรียบทอดยาวกว้างไกลต่อจากกลุ่มหินเทิบ โดยมีป่าเต็งรังแคระล้อมรอบให้ความงดงามกลมกลืนกับธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง มีพันธุ์ไม้พุ่มจำพวกข่อยหิน นางฟ้าจำแลง อ้นเหลืองและกระโดนดานเป็นส่วนประกอบ จุดเด่นของที่นี้ที่ไม่ควรมองข้ามคือกลุ่มดอกหญ้าของสังคมพืชขนาดเล็ก เช่น สร้อยสุวรรณา หยาดน้ำค้าง หนาวเดือนห้า ดาวรวมดวงและดุสิตา ซึ่งจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ของทุกปี ณ กลางลานแห่งนี้ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพแม่น้ำโขงได้ด้วย น้ำตกวังเดือนห้า เป็นน้ำตกขนาดเล็กเกิดจากสายธารที่ไหลผ่านลานหินมุจลินท์จะมีบ่อน้ำซับไหลหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์และสัตว์ป่า ภายในน้ำตกประกอบไปด้วยแอ่งหิน หุบหิน โขดหิน นักท่องเที่ยวนิยมไปชมทัศนียภาพ ผาอูฐ หน้าผาแห่งนี้มีประติมากรรมหินรูปร่างคล้ายอูฐทะเลทรายและเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม สามารถมองเห็นภูถ้ำพระ ผาผักหวานและผาขี้หมูได้อย่างชัดเจน เบื้องล่างของผาอูฐคือหุบเขากว้างไกลและมีป่าไม้เขียวขจีปกคลุม ภูถ้ำพระ ตามตำนานแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ สมัยโบราณเคยมีหมู่บ้านขอมอาศัยอยู่มาก่อนที่จะย้ายถิ่นฐานหนีภัยธรรมชาติ จึงนำพระพุทธรูปที่ตนบูชาสักการะไปเก็บไว้ที่ถ้ำแห่งนี้ประกอบไปด้วย พระเงิน พระนาก พระทองคำ พระหยก พระว่านและพระไม้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันพระพุทธรูปที่มีค่าสูญหายคงเหลือเฉพาะพระแกะสลักด้วยไม้เท่านั้น ณ ตรงนี้ยังมีน้ำตกที่สวยงามคือ " น้ำตกภูถ้ำพระ" อีกด้วย ผามะนาว เป็นหน้าผาเรียบสูงชันมีน้ำตกไหลจากบนหน้าผาลงสู่เบื้องล่างหล่อเลี้ยงทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้อุดมสมบูรณ์ ด้านบนหน้าผาสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของกลุ่มหินเทิบและแม่น้ำโขงได้กว้างไกล ด้านล่างของหน้าผาจะพบความสวยงามของน้ำตก ป่าไม้และสัตว์ป่า สำหรับที่มาของชื่อผามะนาว เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีต้นมะนาวป่าขึ้นเป็นจำนวนมาก ถ้ำฝ่ามือแดง ภายในถ้ำมีภาพเขียนสีนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าภาพเหล่านี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีและเป็นของมนุษย์สมัยโบราณ แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้อยู่ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ 1 ( ห้วยสิงห์) ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 8 กิโลเมตร นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายจุดคือ ผางอย และผาปู่เจ้า 

ฤดูกาลท่องเที่ยวของอุทยานฯ คือ ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ และฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 

ค่าเข้าชม คนไทยผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท /ชาวต่างชาติผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท อัตราค่าบริการ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยลด 50 เปอร์เซ็นต์ วันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2558 ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท 

อุทยานฯ มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ ราคา ราคา 1,800 บาท

 

ที่อยู่ : เมืองมุกดาหาร, มุกดาหาร

เครดิต : http://1ab.in/IxH


วัดยอดแก้วศรีวิชัย

วัดยอดแก้วศรีวิชัย ตั้งอยู่ถนนสำราญชายโขง ได้ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2369 วัดเก่าแก่กว่า 200 ปี สร้างโดยพระยาจันทร์สุริยวงษ์ เจ้าเมืองมุกดาหารลำดับที่สองและภรรยาชาวบ้านเรียกว่า วัดกลาง เพราะตั้งอยู่กลางเมือง และในปี พ.ศ. 2389 พระจันทร์สุริยวงษ์ ผู้เป็นลูก บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่พร้อมตั้งชื่อว่าวัดยอดแก้วศรีวิชัย ภายในวัดยอดแก้วศรีวิชัยจะมีองค์พระธาตุพนมจำลอง และพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐาน ปางประทานโปรดสัตว์ ด้านหน้าวิหารมีพระธาตุเจดีย์ 2 องค์ มีรูปทรงและลักษณะลวดลายสวยงามเพื่อให้ประชาชนกราบไหว้สักการะ

 

ที่อยู่ : หมู่ 3 เมืองมุกดาหาร, มุกดาหาร

เครดิต : http://1ab.in/IxN

 

วัดภูด่านแต้ หรือ วัดพุทธโธธัมมะธะโร

วัดภูด่านแต้ หรือ วัดพุทธโธธัมมะธะโรตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 212 ห่างจากตัวอำเภอนิคมคำสร้อยประมาณ 4 กิโลเมตร ตรงหลักกิโลเมตรที่ 134 ณ เลขที่ 133 หมู่ที่ 1 บ้านชัยมงคล ตำบลโชคชัย อำเภอนิคมคำสร้อย มีหลวงพ่อธรรมจักร พระพุทธรูปขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่หลังคาพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางปฐมเทศนา ศิลปะรัตนโกสินทร์ ประยุกต์ ออกแบบโดยท่านพ่อลี ธัมมธโรที่เคยดำริจะก่อสร้างที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ หันหน้าออกอ่าวไทยเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจแก่นักเดินเรือและประชาชนที่อาศัยในละแวกใกล้ ๆ นั้น 

เมื่อท่านหลวงพ่อลี ละสังขารก็ไม่มีผู้ใดสานต่อเจตนารมณ์ ท่านอาจารย์สมพงษ์ ขันติโก ลูกศิษย์พระอาจารย์ลี เจ้าอาวาสวัดพุทโธธัมธโร ได้ก่อสร้าง เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์กัมมัฏฐาน ตามแบบที่ท่านพ่อลีออกแบบทุกประการ หลวงพ่อธรรมจักรสร้างบน หลังคาอุโบสถ องค์พระสูงใหญ่มาก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อยู่ห่างจากถนนชยางกูรประมาณ 500 เมตร ประชาชนเดินทางผ่านไปมามองเห็นองค์พระได้ชัดเจน ตรงหน้าหลวงพ่อธรรมจักร มีรูปปั้นพระอรหันต์เบญจวัคคี ก่อด้วยอิฐถือปูน หันหน้าเข้าหาหลวงพ่อธรรมจักร นับเรียงจากซ้ายไปขวา องค์ที่ 1 พระอัญญาโกญทัญญะ องค์ที่ 2 พระวัปปะ องค์ที่ 3 พระภัทธิยะ องค์ที่ 4 พระมหานามะ องค์ที่ 5 พระอัสสชิ ด้านหลังหลวงพ่อธรรมจักร เป็นธรรมจักรขนาดใหญ่สูงเท่าองค์หลวงพ่อธรรมจักร มองเห็นเป็นภูมิทัศน์ มีความแปลกมหัศจรรย์กว่าพระพุทธรูป ทุกบาง ที่เคยปรากฏ ทำให้เป็นที่หน้าสนใจของประชาชน แวะเข้าชมและนมัสการมากมาย แม้องค์พระเองก็เป็นปริศนาธรรมให้ขบคิด นิ้วพระหัตถ์ที่กล่าวถึงธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 และกิเลสที่พระองค์ตัดห่างไกลโดยสิ้นเชิงคืออวิชชา 3 

นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเดินทางไปยังวัดได้โดยใช้ถนนหมายเลข 212 อำเภอนิคมคำสร้อยห่างจาก ตัวเมืองมุกดาหาร 15-16 กิโลเมตร ตรงหลักกิโลเมตรที่ 134 เลี้ยวขวาเข้าไป จะพบประดิษฐาน พระพุทธรูป ขนาดใหญ่ บางประทานธรรมมีธรรมจักรเปล่งรัศมีอยู่ด้านบน มีความอ่อนช้อยสวยงาม ตั้งอยู่ริมถนนชยางกูร ทางหลวงหมายเลข 212 บ้านชัยมงคล ตำบลโชคชัย ตรงหลักกิโลเมตรที่134 เลี้ยวขวาเข้าไปใน บริเวณวัดซึ่ง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางห้ามมาร มีธรรมจักรเปล่งรัศมีอยู่ด้านบน สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เพราะองค์พระพุทธรูปสร้างอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ มีประชาชนจากที่ต่าง ๆ เข้าไปนมัสการ และชมความงามของ บริเวณวัดกันอยู่เสมอ

 

ที่อยู่ : 133 หมู่ที่ 1 บ้านชัยมงคล นิคมคำสร้อย, มุกดาหาร

เครดิต : http://1ab.in/IxQ 

 

วัดศรีบุญเรือง (บ้านใต้)

ประวัติวัดศรีบุญเรือง อุโบสถวัดศรีบุญเรือง เริ่มสร้าง พ.ศ. 2500 สร้างเสร็จ พ.ศ. 2509 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2513 ขณะนั้นมีพระวิธูรธรรมาภรณ์ เป็นเจ้าอาวาสวัด แต่เดิมมีเนื้อที่ตั้งวัดจำนวน 5 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา เมื่อปี พ.ศ. 2490 ทางราชการได้ดำเนินการตัดถนนสำราญชายโขงผ่านที่ดินของวัดศรีบุญเรือง แบ่งที่ดินออกเป็นสองแปลง คือแปลงที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขงในขณะนี้ เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัด และแปลงที่สองอยู่ทางทิศตะวันตกของถนนสำราญชายโขง เป็นที่ตั้งวัดศรีบุญเรืองในปัจจุบัน 

เมื่อปี พ.ศ. 2526 มีประชาชนคุ้มศรีบุญเรือง และพ่อค้าในตลาดมุกดาหาร รวมศรัทธาบริจาคปัจจัยชื้อที่ดินธรณีของสงฆ์เพื่อขยายวัดให้กว้างขวางขึ้นอีก จำนวน 2 งาน 92.4 ตารางวา และมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคอีก 1 แปลง คือที่ดินอยู่ใกล้ถนนสายมุกดาหารไปดอนตาล อยู่ห่างจากที่ตั้งศาลากลาง จ.มุกดาหาร ประมาณ 1.5 กม. สะดวกต่อการไปมาของพุทธศาสนิกชน ปัจจุบันวัดศรีบุญเรืองอยู่ในระหว่างพัฒนา การสร้างและการบูรณะวัดจากหลักฐานของคนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาและเอกสารพอเชื่อถือได้ 

กล่าวไว้ว่าวัดศรีบุญเรือง เป็นวัดที่ชาวบ้าน สร้างขึ้นมาในยุคเดียวกับการสร้างเมืองมุกดาหาร (ประมาณ พ.ศ. 2310-2317) เพื่อให้พระธุดงค์ออกจาริกแสวงบุญได้พักอาศัย ในสมัยนั้นพระสงฆ์มีจำนวนน้อย จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่จำวัด วัดแห่งนี้จึงเป็นที่พักอาศัยของพระธุดงค์มาโดยตลอด เมื่อประมาณ พ.ศ. 2318 พระยาจันทร์ศรีอุปราชา (เจ้ากินรี) ซึ่งเป็นผู้สร้างวัด และเป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองมุกดาหาร จึงได้ชักชวนเจ้านาย ข้าราชการ และชาวบ้านร่วมกันบูรณะวัด ให้เหมาะสมที่จะเป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์ และได้ร่วมกันสร้างอุโบสถขึ้นทางด้านหน้าของวัด เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดศรีบุญเรือง ในสมัยที่เจ้ากินรีได้เข้ามาบูรณะและสร้างวัดหัวเมืองแล้ว (วัดศรีมงคลใต้) ก็ควรสร้างวัดท้ายเมือง (วัดศรีบุญเรือง) ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้สักการะบูชาได้โดยทั่วถึง เป็นที่น่าสังเกตว่าอุโบสถที่เจ้ากินรีได้สร้างขึ้นนั้นหันหน้าไปทางทิศเหนือ (อุโบสถส่วนใหม่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก) ทั้งนี้เป็นเพราะว่าท่านอยากจะสร้างอุโบสถแห่งนี้ไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับตัวท่านเอง เพราะเจ้ากินรีเป็นชาวเหนือเชื้อเจ้า ท่านได้พลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนมาด้วยความจำเป็น จึงได้สร้างอุโบสถหันหน้าไปทางทิศเหนือไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ เมื่อสร้างอุโบสถเสร็จ ก็ได้ให้ชาวบ้านศรีบุญเรืองจัดขบวนดอกไม้ธูปเทียน ไปอัญเชิญพระพุทธสิงห์สองจากวัดศรีมงคลใต้ มาประดิษฐานไว้ เป็นพระประธานในอุโบสถหลังนี้ เนื่องจากว่าพระองค์พระพุทธรูปสิงห์สองนี้ เป็นพระพุทธธูปเมืองเหนือ ตัวท่านเองก็เป็นคนชาวเหนือ ได้อพยพลงมาในดินแดนทีอุดมสมบูรณ์ และท่านมีความเคารพพระพุทธรูปองค์นี้มากจึงได้นำมาประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์ในอุโบสถที่ท่านได้สร้างขึ้นมา ฝาผนังอุโบสถเป็นภาพวาด สีสันงดงามมาก ด้านในเป็นภาพเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ด้านนอกเป็นภาพนรก สวรรค์ ซึ่งศิลปกรรมเหล่านี้ถือเป็นประณีตศิลป์ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า อุโบสถดังกล่าวได้พังเสียหายจากความเก่าแก่ ปัจจุบันเราจึงไม่ได้เห็นภาพอันวิจิตรงดงามนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทุกวันนี้คือ ซากปรักหักพังและฐานอุโบสถเท่านั้น พระพุทธสิงห์สอง เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน 

ปัจจุบันทางวัดได้ถือเอาหลวงพ่อพุทธสิงห์ เป็นพระประธานและเป็นสัญลักษณ์ของวัดตลอดมา ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านศรีบุญเรือง และชาวมุกดาหาร ได้ยึดเอาหลาวพ่อพุทธสิงห์สองเป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจมาโดยตลอด ในงานสงกรานต์ของอำเภอเมืองมุกดาหาร ชาวอำเภอเมืองมุกดาหารได้กระทำพิธีอัญ เชิญ พระพุทธสิงห์สองจากพระอุโบสถวัดศรีบุญเรืองแห่รอบเมือง แล้วนำไปประดิษฐานบนแท่นที่จัดไว้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สรงน้ำเป็นประจำทุกปี 

 

ที่อยู่ : หมู่ที่ 3 ถนนสำราญชายโขงใต้ เมืองมุกดาหาร, มุกดาหาร

เครดิต : http://1ab.in/IxU

 

 

 

 


 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only