6/1/64

5 สถานที่ประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์

 อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง (Thailand Historical Sites) หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ (Buri Ram, Thailand) ตั้งอยู่ที่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ในบริเวณอุทยานประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินซึ่งมีสถาปัตยกรรมแบบขอมที่มีชื่อเสียง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15-18 สร้างขึ้นบนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว เดิมเป็นศาสนสถานของผู้นับถือศาสนาฮินดู เมื่อไปถึงปราสาทหินพนมรุ้ง สิ่งแรกที่เห็นคือบันไดใหญ่จากเชิงเขาขึ้นไปด้านบน สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย โดยมีการออกแบบที่ประณีต มีอาคารเรียงรายไปจนถึงปราสาทประธาน ปราสาทประธานมีฐานสี่เหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในส่วนของทับหลังจะเป็นเรื่องราวของวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าของฮินดู อย่างเช่นภาพจากเรื่องรามเกียรติ์


ที่อยู่ : เฉลิมพระเกียรติ, บุรีรัมย์

เครดิต : http://1ab.in/Gfz

 

อนุสาวรีย์เราสู้

อนุสาวรีย์เราสู้ ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 348 (ละหานทราย-ตาพระยา) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชน ตำรวจ ทหาร ที่เสียชีวิตจากการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่ขัดขวางการสร้างทางสายละหานทรายตาพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์จนสามารถสร้างได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลลยเดช โปรดเกล้าพระราชทานชื่อ และทรงทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2523

 

ที่อยู่ : โนนดินแดง, บุรีรัมย์

เครดิต : http://1ab.in/Gfn

 

ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์

มีความเชื่อว่า ณ บริเวณนี้เคยเป็นจุดพักรบของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 และยังเป็นจุดกำเนิดเมืองบุรีรัมย์อีกด้วย ที่นี่จึงถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่เคารพสักการะบูชาและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของชาวบุรีรัมย์ เดิมเป็นเพียงศาลที่มีขนาดเล็กๆ ในปี พ.ศ.2548 จึงได้สร้างศาลหลักเมืองขึ้นมาใหม่ และได้อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเสื้อเมือง เทพารักษ์ และพระทรงเมืองเพื่อมาปกปักษ์รักษาคุ้มครอง ป้องกัน ให้บ้านเมือง อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ความแปลกประการหนึ่งคือ เสาหลักเมืองบุรีรัมย์ที่ปรากฏ มีอยู่ 2 ต้น มีข้อสันนิษฐานว่า เสาต้นที่ 1 (ต้นเอียง) เป็นเสาหลักเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อสร้างเมืองแปะ ส่วนเสาหลักเมืองต้นที่ 2 น่าจะเป็นเสาหลักเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อมีฐานะเป็น จังหวัดบุรีรัมย์และได้สร้างใกล้ชิดติดกัน ด้านข้างศาลหลักเมืองยังมีศาลเจ้าจีน ประดิษฐานรูปเหมือนเจ้าพ่อหลักเมือง ด้านซ้ายมีเทพเจ้าไฉ่ซิงเอียะ ด้านขวามีเทพเจ้ากวนอู เพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายจีนได้มากราบไหว้ในบริเวณเดียวกัน

 

ที่อยู่ : เมืองบุรีรัมย์, บุรีรัมย์

เครดิต :  http://1ab.in/Gfr

 

ปรางค์กู่สวนแตง

คำว่ากู่ เป็นภาษาอีสาน แปลว่า ปรางค์ หรือปราสาท กู่สวนแตง ก็คือปราสาทซึ่งมีลักษณะเดียวกับปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ แต่เป็นปราสาทขนาดเล็ก ไม่มีโคปุระหรือประตูทางเข้า ไม่มีกำแพงแก้ว ไม่มีระเบียงคต เป็นปราสาทก่อด้วยอิฐ จำนวน 3 องค์ ตั้งเรียงกันเป็นแถวบนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลง 2 หลัง และสระน้ำโบราณ 1 สระ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ครอบคลุมเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา เมื่อเปรียบเทียบเรื่องราวที่แกะสลักบนทับหลัง สันนิษฐานว่า กู่สวนแตง สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 17 มีลักษณะคล้ายศิลปะเขมรแบบนครวัด กู่สวนแตง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของโรงเรียนกู่สวนแตงพิทยาคม บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ชัยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ 

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-พยัคฆภูมิพิสัย) ระยะทาง 70 กิโลเมตร แยกย้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 202 ทางไปอำเภอประทายอีก 40 กิโลเมตร จะพบทางแยกเข้ากู่สวนแตงด้านซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตรหรือจากบุรีรัมย์ใช้ทางหลวงหมายเลข 2074 ผ่านอำเภอคูเมืองไปอำเภอพุทไธสง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 202 ระยะทาง 20 กิโลเมตร บริเวณกิโลเมตรที่ 10-11 เลี้ยวซ้ายเข้ากู่สวนแตงอีก 1.3 กิโลเมตร


ที่อยู่ : บ้านใหม่ไชยพจน์, บุรีรัมย์

เครดิต : http://1ab.in/GfI

 

ปราสาทหนองหงส์

ตั้งอยู่ที่บ้านโนนดินแดง อยู่ทางด้านซ้ายของแนวสันเขื่อนลำนางรอง ห่างจากตัวเขื่อน ประมาณ 500 เมตร เป็นโบราณสถานขนาดเล็ก ประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ซึ่งก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูเข้า-ออกด้านหน้า ส่วนประตูอีก 3 ด้าน เป็นประตูหลอก ปรางค์ทั้งสาม มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าสององค์ แต่เดิมมีทับหลังประดับจำหลักลายสวยงาม กล่าวคือ ทับหลังที่ปรางค์องค์ทิศเหนือสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหนือหน้ากาล มือยึดท่อนพวงมาลัย แวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา ทับหลังปรางค์องค์กลางสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังปรางค์องค์ทิศใต้เป็นรูปพระอิศวรทรงโค ด้านหน้าปรางค์องค์กลาง มีทางเดินยาวยื่นออกมา มีบันไดทางด้านหน้า และด้านข้างทั้งสอง นอกจากนี้ยังมีวิหาร (บรรณาลัย) หันหน้าเข้าหาปรางค์องค์ทิศใต้ อีก 1 หลัง ซึ่งก่อด้วยศิลาแลง อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง มีซุ้มประตูด้านหน้าและด้านหลัง มีคูน้ำรูปตัวยู (U) ล้อมรอบ ศึกษาอายุสมัยของปราสาทหนองหงส์ ดูจากลักษณะการก่อสร้างและศิลปกรรมที่พบ ตรงกับศิลปะเขมรแบบ บาปวน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เวลาที่ควรไปชม ช่วงเช้าหรือก่อนพระอาทิตย์ตกดิน โดยสามารถท่องเที่ยวชมบรรยากาศความงามของเขื่อนลำนางรองร่วมด้วย 

การเดินทาง จากจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 219 จนมาถึง อำเภอประโคนชัย ตรงสี่แยกให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 2075 จนมาถึงนิคมบ้านกรวด ให้เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2121 ขับมาเรื่อย ๆ จนมาถึงอำเภอละหานทราย ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3068 พอผ่านสี่แยกปะคำ ให้ขับตรงไปจนถึงบ้านโนนดินแดง ให้เลี้ยวซ้ายเข้าเขื่อนลำนางรอง ปราสาทหนองหงส์ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของแนวสันเขื่อน ห่างจากเขื่อนประมาณ 500 เมตร

 

ที่อยู่ : โนนดินแดง, บุรีรัมย์

เครดิต : http://1ab.in/GfO

 

 

 

 

 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only