23/1/64

5 สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของร้อยเอ็ด

พระมหาเจดีย์มงคลบัว

ตั้งอยู่ตำบลหนองแวง สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ “พระธรรมวิสุทธิมงคล” หรือ “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี เป็นเจดีย์เดียวที่ได้รับอนุญาตให้สร้างจากหลวงตามหาบัว ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้มาดูการถมที่ วางศิลาฤกษ์ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วยตัวท่านเองโดยมีวัตถุประสงค์ให้เจดีย์แห่งนี้เป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมะและปฏิบัติธรรมแก่พุทธศาสนิกชน ลักษณะเป็นเจดีย์สีทองตั้งเด่นสง่ากลางสวน มีสระน้ำรายล้อมด้านหน้าและด้านข้างเจดีย์ บริเวณโดยรอบร่มรื่น เจดีย์แบ่งเป็น 4 ชั้น ดังนี้ ชั้นหนึ่ง ชั้นล่างสุด เป็นห้องอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านไทยอีสาน ซึ่งรวบรวมเพลงพื้นบ้านไทยอีสานไว้ (เป็นดำริของหลวงตามหาบัวเอง) เก็บในคอมพิวเตอร์ สามารถขอฟังได้ทุกเพลง ชั้นสอง เป็นห้องสมุด ซึ่งรวบรวมหนังสือธรรมะที่แต่งโดยหลวงตามหาบัวทั้งหมดไว้ มีทั้งสำหรับแจกและสำหรับอ่านในห้องสมุด นอกจากนี้ยังมีห้องฟังธรรมะของหลวงตา ซึ่งรวบรวมเทศน์ของหลวงตาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 จนถึงปัจจุบัน เก็บในคอมพิวเตอร์ สามารถรับฟังได้ทุกกัณฑ์ ชั้นสาม เป็นรูปเหมือนหลวงตาและเป็นที่นั่งภาวนาสำหรับผู้ต้องการความสงบ ชั้นสี่ ชั้นบนสุด เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน รูปเหมือนหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัว และหลวงปู่หล้า โดยมีพระอัฐิธาตุของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้กราบไหว้ด้วย 

การเดินทาง จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ใช้ทางหลวงหมายเลข 214 เส้นทางไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ใกล้สี่แยกบ้านบัว มีทางเลี้ยวซ้ายสู่พระเจดีย์มหามงคล บัว

 

ที่อยู่ : เมืองร้อยเอ็ด, ร้อยเอ็ด

เครดิต : http://1ab.in/Mtw

 


 

อนุสาวรีย์พระขัติยะวงษา (ทน)

อนุสาวรีย์พระขัติยะวงษา (ทน) ตั้งอยู่ ณ บริเวณวงเวียนห้าแยกสายน้ำผึ้ง ใกล้วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด บุคคลสำคัญที่ทางจังหวัดได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา ก็คือ พระขัติยวงษา (ทน) ซึ่งเป็นบุตรของท้าวจารย์แก้ว เจ้าเมืองท่ง โดยพระขัติยะวงษา (ทน)ได้รับสถาปนาให้เป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก เมื่อ พ.ศ. 2318 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอาจกล่าวได้ว่า พระขัติยวงษา (ทน) เป็นผู้นำในการสร้างบ้านแปงเมืองโดยอพยพผู้คนจากเมืองท่ง มาตั้งรกรากที่เมืองกุ่มร้าง หรือเมืองร้อยเอ็ด จนเป็นปึกแผ่นมั่นคง และถือได้ว่า ท่านเป็นผู้มีความสามารถด้านการปกครอง ในการรวบรวม ผู้คนบูรณะฟื้นฟูและทะนุบำรุงเมืองร้อยเอ็ดจนเป็นปึกแผ่นเจริญรุ่งเรือง จนในที่สุด ทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าเป็นศูนย์กลางการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ในอาณาบริเวณใกล้เคียง มีลูกหลานเป็นเจ้าเมืองสืบมามีความเจริญทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดโดยความเห็นชอบของจังหวัดและประชาชนทั่วไป ได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานระลึกถึงเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก ดังนั้น เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้ขออนุญาตก่อสร้างไปกรมศิลปากรและได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างตามแบบแปลนของกรมศิลปากร ขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของตัวจริง หล่อด้วยสำริด ในลักษณะท่ายืน เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างตามรายละเอียดที่กรมศิลปากรอนุญาต ซึ่งแล้วเสร็จในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2542


ที่อยู่ : เมืองร้อยเอ็ด, ร้อยเอ็ด

เครดิต : http://1ab.in/Mt6

 

ผาน้ำย้อย (พุทธอุทยานอีสาน)

ผาน้ำย้อย ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง ตำบลผาน้ำย้อย จังหวัดร้อยเอ็ด มีเนื้อที่ประมาณ 20,000ไร่ โดยตั้งอยู่สูงจากระดับพื้นดิน 200 เมตร และสูงกว่าระดับน้ำทะเล 380-500 เมตร มีลักษณะเป็นผาหินขนาดใหญ่ที่อยู่บนภูเขาเขียวและมีน้ำไหลและซึมตลอดปี โดยเป็นเหมือนเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อีกทั้งยังมีลักษณะป่า เป็นป่าไม้เนื้อแข็งนานาชนิด และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น หมูป่า เก้ง กวาง ไก่ป่า เป็นต้น บนเขาลูกนี้มีวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนารามตั้งตระหง่านอยู่ มีเนื้อที่ 2,500ไร่ โดยมีพระอาจารย์ศรีมหาวิโร ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัต เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ภายในบริเวณมี พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย ออกแบบโดยกรมศิลปากร ลักษณะเจดีย์จะเป็นสีขาวตกแต่งลวดลายสวยงามตระการตาด้วยสีทองเหลืองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง 8 ทิศ มีความกว้าง 101 เมตร ความยาว 101 เมตร ความสูง101เมตร สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และได้ตกแต่งลวดลายงามวิจิตรของศิลปะยุคใหม่และยุคเก่า ผสมเป็นศิลปะไทยร่วมสมัยที่หาดูได้ยาก พระมหาเจดีย์ชัยมงคลนี้ตั้งอยู่ในบริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม ภายในพระมหาเจดีย์มีทั้งหมด 6 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นห้องโถงกว้างใหญ่โออ่า ใช้เป็นห้องเอนกประสงค์ และประชุมบำเพ็ญบุญ ชั้นที่ 2 เป็นศาลาประชุมสงฆ์ ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ ชั้นที่ 3 เป็นชั้นอุโบสถ และประดิษฐานรูปพระคณาจารย์ปราชญ์อีสานในอดีต เป็นรูปเหมือนสลักหินอ่อน และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโน 101 องค์ ชั้นที่ 4 เป็นชั้นชมวิว ชมทัศนียภาพรอบภูเขาเขียว ชั้นที่ 5 เป็นชั้นพิพิธภัณฑ์ ชั้นที่ 6 เป็นชั้นสูงสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-17.00 น. นักท่องเที่ยวที่สนใจมาเยือน ?เดินทาง ไปตามเส้นทางสายร้อยเอ็ด-อำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก ระยะทาง 62 กิโลเมตร จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ตามทางหลวงหมายเลข 2044 และ 2136

 

ที่อยู่ : บ้านโคกกลาง ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด

เครดิต : http://1ab.in/Mua

 

กู่กาสิงห์

กู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ในวัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นโบราณสถานสถาปัตยกรรมแบบเขมรอีกแห่งหนึ่ง มีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังอยู่ในสภาพดี ปัจจุบันสำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี สังกัดกรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะกู่กาสิงห์ ให้สวยงามยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสานของไทย กู่กาสิงห์ ประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 องค์ที่ขนาบข้าง และมีมุขยื่นทางด้านหน้าเป็นห้องยาว ส่วนฐานขององค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาทรายยังคงปรากฏลวดลายสลักเป็นชั้นเป็นแนว เช่น ลายกลีบบัวและลายกนก ได้ค้นพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพสูงสุด (พระอิศวร) และความอุดมสมบูรณ์ตามลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย และมีวิหารหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย อยู่ทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ถัดออกไปเป็นคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบทับหลังอีกหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว และยังพบซุ้มหน้าบันสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายก้านขดอีกด้วย ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบนั้น มีขนาดและลักษณะเดียวกัน ฐานก่อด้วยศิลาทราย ผนังก่ออิฐมีประตูเพียงด้านหน้า ภายในมีแท่นรูปเคารพวางอยู่จากลวดลายของศิลปกรรม ดังนั้น จากแบบแผนผังและโบราณวัตถุที่พบ แสดงให้เห็นว่า กู่กาสิงห์สร้างขึ้นในแบบศิลปะเขมรที่เรียกว่า "แบบบาปวน" ในราวช่วง พ.ศ. 1560-1630 เพื่อเป็นเทวสถานอุทิศถวายแด่พระอิศวร เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์

 

ที่อยู่ : เกษตรวิสัย, ร้อยเอ็ด

เครดิต : http://1ab.in/Mum

 

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ เดิมมีชื่อว่า หมอกบ่วาย (หมอกมิวาย) ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลบึงงาม อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 151,242ไร่ ลักษณะสภาพพื้นที่บริเวณนี้ เป็นเทือกเขาหินทรายสูงชันและสลับซับซ้อน ประกอบด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนสัตว์ป่าที่พบในพื้นที่ป่าแห่งนี้ ได้แก่ หมูป่า เก้ง สุนัขจิ้งจอก ลิง กระรอก กระแต เป็นต้น บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์เป็นจุดที่มองเห็นวิวทิวทัศน์ธรรมชาติอันสวยงาม และมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี เนื่องจากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ และความชื้นสูงจึงทำให้บริเวณดังกล่าวมีความร่มรื่น เหมาะสำหรับผู้ที่นิยมท่องเที่ยวแบบเดินป่าศึกษาธรรมชาติ โดยจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณเขตห้ามล่าฯ คือ ผาภูไท ซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น และผาหมอกมิวาย ซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตก 

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ 2 เส้นทาง ระยะทาง 2 กิโลเมตร และ 3 กิโลเมตร ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินสำรวจเองได้ อีกทั้ง บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ยัง มีบริการบ้านพักและสถานที่สำหรับกางเต็นท์ ถ้าหากต้องการเข้าพักเป็นหมู่คณะ และต้องการเจ้าหน้าที่นำทาง จำเป็นต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้าถึงหัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์และวรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

 นักท่องเที่ยวที่สนใจมาเยือน สามารถเดินทางโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2 จากขอนแก่น-หนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด และใช้ทางหลวงหมายเลข 209 และ 2116 จากอำเภอหนองพอกถึงบ้านท่าสะอาด ระยะทาง 9กิโลเมตรจากนั้น เลี้ยวซ้ายจากบ้านท่าสะอาดถึงสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าผาน้ำทิพย์ 13 กิโลเมตร หรือจะสอบถามรายละอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 0 9551 1782

 

ที่อยู่ : หนองพอก, ร้อยเอ็ด

เครดิต : http://1ab.in/MtD

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แสดงความคิดเห็น

Whatsapp Button works on Mobile Device only